เกษตรฯ ลงพื้นที่ภาคอีสานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

308

รมว.ธรรมนัส ลงพื้นที่ภาคอีสาน ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดร้อยเอ็ด ด้านกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจพื้นที่เสียหาย พร้อมสนับสนุนพืชพันธุ์ดีและชีวภัณฑ์ บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน พัดปกคลุม ทำให้สถานการณ์ฝนในระยะนี้ ยังมีกระจายต่อเนื่อง และอาจมีฝนหนักบางแห่ง ส่งผลให้ขณะนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วใน 12 จังหวัด 69 อำเภอ เกษตรกร 38,512 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ พื้นที่ประสบภัย 354,473.25 ไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 306,247 ไร่ จึงมีความเป็นห่วงประชาชน ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก และได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตรให้จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดออกสำรวจและรายงานความเสียหายเบื้องต้น (ด้านพืช) ให้ทราบในทันที ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ บ้านคำบง ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านเหล่าน้อย ตำบลวังสามัคคี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วในเบื้องต้น

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้านนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในจังหวัดที่ประสบภัย เร่งลงพื้นที่ภายหลังน้ำลด สำรวจความเสียหายและรายงานตัวเลขให้ทราบ สำหรับจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ 13 ตำบล 98 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2,053 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 60,752 ไร่ ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ 24 ตำบล 181 หมู่บ้านเกษตรกรประสบภัย 6,128 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 62,373 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2566) ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม นำต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ดี พร้อมชีวภัณฑ์ ที่ได้ผลิตสำรองไว้มาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรทุกแห่ง ดำเนินการเตรียมพันธุ์พืชดี และเชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับสนับสนุนเกษตรกรหลังน้ำลด เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟู และป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริก เป็นต้น

ด้านหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว