ปีนี้ ข้าวนาปีราคาและทิศทางส่งออกยังสดใส ขยับตัวสูงขึ้น

229

ปีนี้ ข้าวนาปีให้ผลผลิต 25.76 ล้านตันข้าวเปลือก ด้านราคาและทิศทางส่งออกยังสดใส ขยับตัวสูงขึ้น

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี ปี 2566 (ปีเพาะปลูก 2566/67) รวมทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ 11 กรกฎาคม 2566) พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.602 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.96 เนื้อที่เก็บเกี่ยว  59.598 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.316 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.53 ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.871 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 3.27

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า  และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 ซึ่งจากการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว และช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อย จากการเกิดปรากฏการเอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้ฝนทิ้งช่วง เกิดความแห้งแล้ง ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าว นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ด้านราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ พบว่า ขยับตัวสูงขึ้นทั้งราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยช่วง 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2566) ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ย 14,226 บาท/ ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 13.33  ส่วนราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%  เฉลี่ย 10,499 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 20.58 และราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น 15% เฉลี่ย 11,657 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 27.71

ขณะเดียวกันการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (มกราคม – กรกฎาคม 2566) มีทิศทางสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งการส่งออกข้าวขาวสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยมีปริมาณการส่งออก 2.54 ล้านตัน สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 30.16 มูลค่าการส่งออก 40,767 ล้านบาท สูงขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2565  ร้อยละ 51.83 ขณะที่การส่งออกข้าวเหนียว ในช่วง 7 เดือนปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันแต่เป็นการสูงขึ้นเฉพาะมูลค่าการส่งออกเท่านั้น โดยมูลค่าการส่งออก  3,347 ล้านบาท  สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 14.14 ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น มาจากความกังวล ในสถานการณ์เอลนีโญที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ผลผลิตข้าวของประเทศจีนลดลง ประกอบกับประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว