ส.ป.ก. MOU 15 หน่วยงาน เสริมทัพร่วมพัฒนาพื้นที่และเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

231

ส.ป.ก. MOU 15 หน่วยงาน เสริมทัพร่วมพัฒนาพื้นที่และเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

​ส.ป.ก. เซ็น MOU 15 หน่วยงาน ยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ในพื้นที่ คทช. พื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ และพื้นที่อื่นในเขตปฏิรูปที่ดิน เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน พร้อมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สวัสดิการสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกร

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ) เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 16 หน่วยงาน โดยมี นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวต้อนรับ และ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวรายงานความเป็นมาของ MOU ในวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 ณ อาคารศาลาพระมิ่งขวัญ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเดิม) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ)

​สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นการร่วมมือระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

โดยทุกหน่วยงานจะร่วมกันทำงาน คือ 1) บูรณาการวางแผนและสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ ในพื้นที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 สั่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 พื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพื้นที่อื่นในเขตปฏิรูปที่ดิน 2) ให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด 3) ความร่วมมือในการให้องค์ความรู้และสนับสนุนทางเทคนิควิชาการ ในการวางแผน ออกแบบ และก่อสร้าง เพื่อยกระดับงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดศักยภาพสูงสุด 4) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมสวัสดิการสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีรายได้ที่มั่นคง

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า “ในการเซ็น MOU ครั้งนี้ เราจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ เช่นการพัฒนาด้านน้ำนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันกำหนดแผนงาน การสำรวจออกแบบพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เช่น บ่อน้ำบาดาล สระเก็บน้ำประจำแปลงเกษตรกรรม เป็นต้น ส่วนด้านดินจะร่วมกันปรับปรุง พัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเกษตร พร้อมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำให้เกิดความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ออกแบบผังชุมชน ผังแปลงเกษตรกรรม ให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมของจังหวัด จัดทำแผนขยายเขตไฟฟ้าเข้าพื้นที่ ทั้งยังให้ความรู้เจ้าหน้าที่และกลุ่มเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการ ทำให้ชุมชนมีศักยภาพสามารถพัฒนาไปสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจในอนาคต และการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ ให้มีการต่อยอดการพัฒนาในมิติ 6 ด้าน คือ น้ำ ดิน เกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และพลังงานทดแทน รวมไปถึงสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ข่าว