สศท.7 ร่วม AFSIS ติดตามการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดงดินแดง จ.ลพบุรี สร้างระบบน้ำหยดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.7 ได้ร่วมกับสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเชียน (AFSIS) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Project for Strengthening ASEAN Food Security Information System (AFSIS) Function for Emergency (SAFER) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาดูงานและลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำรายงานสถานการณ์การเติบโตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ Maize Growing Outlook (MGO) Report
จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 10 ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในกิจกรรมภายใต้โครงการ Project for Strengthening ASEAN Food Security Information System (AFSIS) Function for Emergency (SAFER) ได้มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบน้ำหยด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการสร้างระบบกักเก็บน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบน้ำหยดนั้น จะช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมการให้ปริมาณน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ประหยัดน้ำในการเพาะปลูกและสามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ถึง 3 ครั้ง/ปี อีกทั้งระบบนี้ช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 1,800 กิโลกรัม/ไร่ จากแต่ก่อน 900 กิโลกรัม/ไร่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 จังหวัดลพบุรี (ข้อมูล ณ มิ.ย. 66) พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 398,912 ไร่ ให้ผลผลิต 450,841 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,158 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกในอำเภอชัยบาดาล หนองม่วง โคกสำโรง พัฒนานิคม และ ท่าหลวง โดยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร 9,964 ครัวเรือนโดยขณะนี้ เกษตรกรอยู่ระหว่างเตรียมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ซึ่งจะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ซึ่งเกษตรกรจะมีการจำหน่ายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ลานรับซื้อในจังหวัดทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิตจะส่งต่อไปยังโรงงานอาหารสัตว์ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และสระบุรี เป็นส่วนใหญ่ ในด้านค่าขนส่งเฉลี่ยจากเกษตรกรไปสู่ลานรับซื้ออยู่ที่ 119 บาท/ตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดมาตรการจูงใจในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตส่งเสริมการผลิต ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร อาทิ สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรและพัฒนาเป็นกลุ่มแปลงใหญ่สร้างความเข็มแข็ง มีอำนาจต่อรองทั้งในส่วนของการซื้อปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรทำการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพจำหน่าย เน้นเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ราคาที่ไม่แพง 2) ด้านการผลิต อาทิ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิต และ 3) ด้านการแปรรูปและการตลาด อาทิ ส่งเสริมการแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน และวัสดุเหลือใช้ (ซังข้าวโพด ต้นข้าวโพด) มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ (เช่น บรรจุภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก ถ่าน วัสดุกันกระแทก เป็นต้น)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว