กยท. เปิดเวทีฯ นำนักลงทุนจับคู่ธุรกิจบ่มเพาะสู่การเป็น Startup

304

กยท. เปิดเวทีนำเสนอนวัตกรรมยาง – นำนักลงทุนจับคู่ธุรกิจบ่มเพาะสู่การเป็น Startup ด้านยาง พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (27 ก.ย. 66) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดกิจกรรมการแข่งนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบและการจับคู่ธุรกิจ ในงาน “Rubber Innovation Matching Day” ภายใต้โครงการ “Natural Rubber Startup Acceleration Program : Batch 3” โดยมี นายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคกลางภาคตะวันออก เป็นประธานในพิธีเปิด ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จ.สงขลา มุ่งเปิดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้นแบบด้านยาง จากผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 29 ทีม พร้อมจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุน ผลักดันสู่การเป็น Startup ด้านยาง ตลอดจนพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน   

นายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์
ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย
เขตภาคกลางภาคตะวันออก

นายจิรวิทย์ กล่าวว่า กยท. เห็นความสำคัญของงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม/ผลิตภัณฑ์ด้านยาง โดยใช้เทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อน   สอดรับกับสิ่งใหม่ๆในอนาคต  เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของ  เกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ร่วมกับ มอ. จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและ     ผู้ประกอบกิจการยาง การพัฒนาด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง  (Natural Rubber Startup Acceleration Program : Batch 3)  ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยกิจกรรมนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบและการจับคู่ธุรกิจในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายในโครงการฯ  หลังจากที่นักวิจัย นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการ ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 29 ทีม ได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์มาแล้ว  ได้นำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านยางพารา ต่อคณะกรรมการและนักลงทุน รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการพบปะ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้  และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย และภาครัฐ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือและแรงสนับสนุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาต่อยอด และสร้างความหลากหลายของผลงานวิจัย นวัตกรรมต้นแบบ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์  ให้สามารถผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ สร้างความเข้มแข็งให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศ ไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างความรู้จักแก่ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เสริมความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด ผลักดันให้ยางพาราไทยมีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้มีความยั่งยืนและแข็งแรง

ภายในงานจัดให้มี การแข่งขันนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบและตัดสินผลผู้ชนะ แบ่งเป็น 4 ระดับผลงาน ได้แก่ ระดับ Idea to Design (I2D) เป็นผู้ที่มีแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำนวัตกรรมวัสดุจากงานวิจัยด้านยางธรรมชาติเป็นต้นแบบการพัฒนา จำนวน 9 ทีม ผู้ชนะคือ ทีมเลือดกรุ๊ปพี กับผลงาน ReRublockเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการก่อสร้างในงานภูมิทัศน์ ด้วยการใช้

บล็อกประสานที่สร้างจากตะกอนยางที่รีไซเคิลแล้ว ระดับ Idea to Prototypes (I2P) เป็นผู้ที่มีแนวคิดเบื้องต้น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาพัฒนาเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 14 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม Smart Para Film กับผลงานฟิล์มยางพาราดูดซับเอทิลีนชะลอการสุกของกล้วยหอมทอง ระดับ Products to Market (P2M)  เป็นผู้ที่มีผลิตภัณฑ์ยางพารา  และต้องการยกระดับเพื่อเป็นสินค้าเชิงพานิชย์ จำนวน 3 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม Electron+ กับผลงาน ยางพาราพัฒนาเป็น Flexible thermoelectric device สำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า และระดับ Products to Global Market (P2GM) เป็นผู้ที่มีผลิตภัณฑ์ยางพารา และจำหน่ายอยู่ในตลาดภายในประเทศและต้องการยกระดับเพื่อเป็นสินค้าเชิงพานิชย์ในระดับนานาชาติ จำนวน 3 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม LONGPLY กับผลงานผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากหวายเทียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดบูธแสดงงานวิจัย และผลิตภัณฑ์ต้นแบบของทีมต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือก ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมอีกด้วย

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว