กยท. ดึงผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ ดันส่งออกยางไทย

264

กยท. ดึงผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ เร่งเข้าระบบ Thai Rubber Trade เดินหน้าตามมาตรการ EUDR ดันส่งออกยางไทย ยกระดับรายได้ชาวสวนยาง

กยท. ผนึกกำลัง ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่วงการยาง -หน่วยงานทุกภาคส่วน เดินหน้าตามมาตรการ EUDR  เพื่อประโยชน์ทางการค้าและส่งออกยางพาราไทย พร้อมยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวสวนยาง ย้ำ เร่งขึ้นทะเบียนผู้ประกอบกิจการยางกับ กยท. จัดทัพผู้ซื้อ – ผู้ขายยางไทยเข้าระบบมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับ RAOT Traceability

นายณกรณ์  ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย  (กยท.)กล่าวว่า หลังจาก กยท. นำคณะผู้บริหารระดับสูง หารือกับคณะกรรมาธิการยุโรป (EU) เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นการประกาศเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป  กยท. ได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎระเบียบ EU Deforestation Free Production Regulation (EUDR) ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป (EU) ประกาศกฎเกณฑ์การจำหน่ายสินค้า หรือส่งออกจากสหภาพยุโรป ให้มั่นใจว่าแหล่งกำเนิดสินค้า 7 ชนิด รวมถึง ยางพารา ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าและเป็นสินค้าถูกกฎหมาย โดยทาง EU ยอมรับว่าไทยเตรียมการได้ดีและสามารถสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ได้ ทั้งนี้ ระบบ Traceability ของ กยท. เป็นระบบที่ส่งเสริมการปรับใช้กับกฎหมาย EUDR ได้ดี

ขณะเดียวกัน EU อยู่ระหว่างจัดทำและรวบรวมประเด็นข้อซักถามจากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาเอกสาร Industry Guideline ดังนั้น กยท. จึงเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย ผู้ประกอบการจาก บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) มาระดมความเห็นในการจัดทำเอกสารข้อมูลรายการการซื้อขาย (Transaction Information) ผ่านแพลตฟอร์ม TRT-EUDR ที่ กยท. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นโมเดลเสนอ EU ในกระบวนการพัฒนาเอกสาร Industry Guideline ต่อไป

แพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถติดตามและระบุแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา ตั้งแต่ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต โรงงานแปรรูปยาง  ไปจนถึงสวนยางของเกษตรกร โดยมีเอกสารข้อมูลรายการการซื้อขาย (Transaction Information) ข้อมูลพิกัดแปลง (Geo-Information) ที่แสดงว่ายางพาราชุดนั้นมาจากแหล่งปลูกที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจและเข้ามาลงทะเบียนกับ กยท. แล้วมากกว่า 95%

“การหารือร่วมกันครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญย้ำให้เห็นว่า กยท.  ผู้ประกอบการ และหน่วยงานทุกภาคส่วนพร้อมผนึกกำลังและเดินหน้าตามมาตรการ EUDR  เพื่อประโยชน์ทางการค้าและส่งออกยางพาราไทย ที่จะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยางไปพร้อมกัน” ผู้ว่าการ  กยท. กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการยางสามารถขึ้นทะเบียนได้ทาง www.raot.co.th โดยโรงงานแปรรูป/ส่งออกยาง ให้ลงทะเบียนผู้ประกอบกิจการยางกับ กยท. เป็น ผู้ซื้อ ในระบบ ส่วนจุดรวบรวมยาง(เอกชน) ให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบกิจการยางพาราและสมัครเป็น ผู้ขาย ผ่านแพลตฟอร์ม TRT-EUDR ได้เช่นกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย โทร. 0-2424-4259

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว