ข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์ จ.พัทลุง คาดได้ GI ปี 67

291

กลุ่มผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์ จ.พัทลุง ผลผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพ เตรียมพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ คาดได้ GI ปี 67

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.9 ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน จึงได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ กรณีศึกษากลุ่มผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์ หมู่ที่ 7 ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำนาข้าวสังข์หยดอินทรีย์ให้คงอยู่กับคนในพื้นที่ จึงได้นำองค์ความรู้จากการทำนาแบบดั้งเดิม มาประยุกต์ใช้กับการทำนาข้าวสังข์หยดอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุน ซึ่งผลผลิตของกลุ่มเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ตั้งแต่ปี 2564 และมีระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS)

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา

 กลุ่มผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 365 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 60 ราย โดยมีนายจบ ขุนทอง เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาของ สศท.9 พบว่า ปีเพาะปลูก 2565/66 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,437 บาท/ไร่/ปี เพาะปลูกช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 380 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ความชื้นมากกว่า 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 14,000 บาท/ตัน หรือ 14 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5,329 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,891 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ เกษตรกรได้นำความรู้แบบดั้งเดิมที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ไม่มีการจ้างแรงงาน อีกทั้งมีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง การใช้ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ที่ตัวเองเลี้ยงไว้ไม่มีการใช้สารเคมี ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ร้อยละ 12 ด้านสถานการณ์ตลาด สมาชิกเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 จำหน่าย ในรูปแบบของข้าวเปลือกให้กับโรงสี ร้อยละ 15 เก็บไว้บริโภคและทำเมล็ดพันธุ์ และอีกร้อยละ 5 จำหน่ายในรูปแบบข้าวสารสังข์หยดอินทรีย์ให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง

 ด้านการดำเนินงาน กลุ่มผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้กลุ่มอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารข้อมูลเพื่อขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ในนามของกลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้มาให้ความรู้กับสมาชิกกลุ่มในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา ให้คำแนะนำวิธีการเขียนโครงการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอควนขนุน ให้ความรู้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อเตรียมพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในอนาคตทั้งรูปแบบไอศกรีม กาแฟ ขนม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านโคกโพธิ์

“ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยและของโลก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 มิถุนายน 2549 เป็นความภาคภูมิใจของชาวนาเมืองพัทลุง ซึ่งข้าวสังข์หยดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะข้าวซ้อมมือและข้าวกล้อง รวมถึงการเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมให้ผู้ผลิตแปรรูป ในท้องถิ่นรักษามาตรฐานสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตลอดจนรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของพัทลุง หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์ผลิต สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายจบ ขุนทอง รองประธานกลุ่ม โทร 08 1189 2477 นางยุพิน เทพเกลี้ยง รองประธานกลุ่ม โทร 08 5640 3827 หรือสนใจข้อมูลผลการศึกษาเชิงลึก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว