หุ่นฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ CPR รุ่นล่าสุด! ฝึกได้เสมือนจริง

375

กยท. ดันนวัตกรรมยางต่อเนื่อง ชู หุ่นฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ CPR รุ่นล่าสุด! ฝึกได้เสมือนจริง-แสดงผลผ่านสมาร์ตโฟนได้ ขยายผลช่วยเหลือสังคม เพิ่มใช้ยางในประเทศมากขึ้น

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โชว์นวัตกรรมล่าสุด หุ่นยางฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพฯ CPR รุ่น อรุณ 7.0 ชูนวัตกรรมยางเพื่อสังคม มุ่งขยายผลช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน-ลดอัตราเสียชีวิต พร้อมขานรับนโยบายผลักดันผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หุ่นยางฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน ผลิตจากน้ำยางพาราธรรมชาติของสถาบันเกษตรกร ที่ผ่านการแปรรูปให้มีรูปร่าง สรีระ ความยืดหยุ่น รวมถึงผิวสัมผัสคล้ายมนุษย์ ฟังก์ชันการใช้งานสามารถฝึกทำ CPR ได้เสมือนช่วยชีวิตคนในสถานการณ์จริง หุ่น CPR ยางพาราในประเทศไทยเริ่มทำครั้งแรกช่วงปี 2558-2559 และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พัฒนามาถึงหุ่นยางฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพฯ รุ่นอรุณ 7.0 ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหุ่นรุ่นเดิม ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบันทึกผลการฝึก CPR แบบเรียลไทม์ ผ่านเข้า Smartphone หรือคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ฝึกทำการปั๊มหุ่น CPR เสร็จ จะทราบผลการทดสอบได้ทันที ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินโครงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) มอบหุ่นยาง CPR ให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นและต้องการใช้งาน ต่อเนื่องมากว่า 3 ปี จำนวน 350 ตัว อาทิ หน่วยงานทางการแพทย์ หน่วยกู้ภัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้เพื่อฝึกปฏิบัติช่วยฟื้นคืนชีพ ส่งผลให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินและลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก เป็นการช่วยเหลือสังคมพร้อมผลักดันนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากยางพาราควบคู่กัน

 “นโยบายของ รมว.กษ. ต้องการยกระดับสินค้าเกษตร ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้จากพืชผลทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของ กยท. ได้สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางพาราประเภทต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และขยายผลถึงเศรษฐกิจของไทยด้วย” นายณกรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ผู้บริหาร บริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม จำกัดผู้ผลิตหุ่นยางกล่าวว่า หุ่นยาง CPR ที่มอบให้ กยท. ในครั้งนี้ เป็นหุ่นยางฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพฯ รุ่น อรุณ 7.0 ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยเรียบร้อย การทำงานของหุ่นสามารถแสดงระยะการกดลึกและความถี่ในการกดได้ เพิ่มความเสมือนจริงกว่ารุ่นที่ผ่านมา สามารถเชยคางหุ่น บีบจมูก และเป่าปากได้ โดยการใช้งานในแต่ละส่วนของหุ่นนั้นจะมีการบันทึกข้อมูลไว้ และยังส่งข้อมูลแสดงผลเชื่อมโยงบน Smartphone หรือคอมพิวเตอร์ได้ จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการนำไปใช้ฝึกอบรมหลักสูตร CPR และประเมินผลการทดสอบรายบุคคลได้ด้วย

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว