มันสำปะหลังโรงงาน เมืองกาญจน์ ผลผลิต 1.6 ล้านตัน

434

ปีนี้ มันสำปะหลังโรงงาน เมืองกาญจน์ ผลผลิต 1.6 ล้านตัน แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง เฝ้าระวังโรคใบด่าง

นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังโรงงานจังหวัดกาญจนบุรี แหล่งผลิตสำคัญ        อันดับ 1 ของภาคตะวันตก โดยในปี 2567 (ข้อมูลพยากรณ์จาก สศก. ณ เดือนตุลาคม 2566 ) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 553,465 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 551,782 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,683 ไร่ หรือร้อยละ 0.3) ผลผลิตรวม 1,612,244 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 1,919,305 ตัน (ลดลง 307,061 ตัน หรือร้อยละ 16) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2,913 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 3,478 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 565 กิโลกรัม หรือร้อยละ 16) ทั้งนี้ มีเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 15,845 ครัวเรือน

 นางสาวศิริพร จูประจักษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุ
รี

ขณะนี้ มันสำปะหลังโรงงานในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยเดือนตุลาคมนี้ ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 2 ของผลผลิตทั้งจังหวัด ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประมาณร้อยละ 19 ของผลผลิตทั้งจังหวัด โดยราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้โดยเฉลี่ย (ราคา ณ วันที่ 20 ต.ค. 66) อยู่ที่ 2.55 บาท/กิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ราคา 2.45 บาท/กิโลกรัม) เนื่องจากความต้องการรับซื้อมันสำปะหลังของโรงงานเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศจีน

การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี (ข้อมูล ณ วันที่ 11 – 18  ต.ค. 66) พบพื้นที่ความเสียหายรวม 19,281 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 2,403 ราย พบการระบาดมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเลาขวัญ ห้วยกระเจา ท่าม่วง และหนองปรือ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเกษตรอำเภอเลาขวัญ สำนักงานเกษตรอำเภอห้วยกระเจา สำนักงานเกษตรอำเภอท่าม่วง สำนักงานเกษตรอำเภอหนองปรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำชุมชน และเกษตรกรในการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ที่มีการระบาด รวมถึงการป้องกันให้กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคโดยการถอนทำลาย และการพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ รวมถึงภาคเอกชน (ลานมันในพื้นที่) ยังให้ความร่วมมือรับซื้อมันสำปะหลังจากแปลงที่เป็นโรค ในกรณีที่แปลงสามารถขุดมันได้แล้ว นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่มีการสำรวจแปลงมันของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และไม่มีการซื้อขายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังนอกพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังเบื้องต้นได้

 “อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สศท.10 ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์การระบาดและการป้องกันเพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ หากต้องการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างถาวร เกษตรกรต้องมีการคัดเลือกท่อนพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นที่สะอาดปราศจากโรค จากแปลงที่ไม่เคยเป็นโรค และงดซื้อ/ขายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือจากแหล่งที่เกิดโรคระบาด ซึ่งอาจทำให้โรคระบาดกลับมาอีกและทำให้พันธุ์มันสำปะหลังในพื้นที่ขาดแคลนได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบการระบาด สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ  ในจังหวัดกาญจนบุรี หรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังจังหวัดกาญจนบุรี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว