เกษตรฯ เผยผลดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ

743

กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ส่งเสริมเกษตรกรประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย มีรายได้เพิ่มขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลการดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินงานส่งเสริมให้เกษตรกรมีการประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างปลอดภัย ถูกต้อง ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและเป็นปัจจุบัน เกิดการขยายผลสู่การปฏิบัติของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครนายก

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ ดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยดำเนินการในพื้นที่โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน มีทหาร นักเรียน เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ ที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติ รวมจำนวน 2,364 ราย สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาอาชีพการเกษตรได้ ร้อยละ 72.5 และมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เกิดเกษตรกรต้นแบบ รวมจำนวน 28 ราย ทั้งนี้ มีแผนการพัฒนาแปลงเกษตรผสมผสาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และมีการขยายพันธุ์พืช แมลงเศรษฐกิจ สู่ชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการต่อไป

นายครองศักดิ์ สงรักษา
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับผลการดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีดังนี้ 1) ดูแลและพัฒนาแปลงเกษตรผสมผสานในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 30 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านการผลิตพืช ให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา กิจกรรมประกอบด้วยการขยายพันธุ์พืช จัดทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การปลูกผักในโรงเรือน เป็นต้น 2) อบรมถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติ หลักสูตรการบริหารจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นนักเรียนในพื้นที่รอบๆ โครงการ จำนวน 2 โรงเรียน รวม 79 ราย สนับสนุนชีวภัณฑ์ ศัตรูธรรมชาติ ให้แก่โรงเรียน  เกษตรกร ทหาร ภายใต้โครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และโครงการทหารพันธุ์ดี ในพื้นที่โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครนายก 3) อบรมถ่ายทอดความรู้ และฝึกปฏิบัติ หลักสูตรการขยายพันธุ์พืชให้แก่เกษตรกร รวม 50 ราย สนับสนุนต้นพันธุ์มะนาว มะกรูด และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม และ4) อบรมถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติ หลักสูตรการเลี้ยงชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและชันโรง ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 46 ราย ประกอบด้วย เกษตรกร จำนวน 22 ราย และทหาร จำนวน 24 ราย สนับสนุนรังแม่พันธุ์ชันโรงให้แก่เกษตรกรผู้เข้ารับการอบรม เกิดเกษตรกรต้นแบบของจังหวัดนครนายก รวม 5 ราย ที่พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่รายอื่น

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว