เกษตรฯ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง

306

กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง ชูสร้างสมดุลภาคการเกษตร 3 ด้าน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้เกษตรกร” ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่นาอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ด้วยการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้การบริหารจัดการการผลิตพืชทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต คุณภาพผลผลิต และการตลาด  ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการเกษตร ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ แล้วรวม  25,662 ราย เกิดแปลงเรียนรู้ 25,662 ไร่ มีพื้นที่ขยายผลรวม 105,871 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สระบุรี กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี แพร่ ลำปาง น่าน ตาก ศรีสะเกษ สกลนคร อุบลราชธานี นครพนม ฉะเชิงเทรา และจังหวัดนครปฐม และในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรจะขยายผลเพิ่มเติมในพื้นที่ จังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี ช่วยสร้างกำไรให้เกษตรกรจากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 1,000 – 35,000 บาท/ไร่ (ขึ้นกับชนิดพืช)

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า พืชใช้น้ำน้อยที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ด้วยพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 120 วัน เช่น แตงโม มะเขือเทศ มันฝรั่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟักทอง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ดาวเรืองตัดดอก และพืชผักต่าง ๆ เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำต่อรอบฤดูปลูกน้อย มีตลาดรองรับ และสร้างกำไรให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยพืชใช้น้ำน้อยจะปลูกในพื้นที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว (ช่วงเดือน พฤศจิกายน – เมษายน) ซึ่งการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรังส่งผลให้เกิดความสมดุล ใน 3 ด้าน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ เกิดสมดุล 3 เพิ่ม 1 ลด คือ เพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า และลดต้นทุน คือ 1) เพิ่มรายได้ด้วยพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าการปลูกข้าว เช่น แตงโม 16,885 บาท/ไร่ และฟักทอง 34,889 บาท/ไร่ 2) เพิ่มช่องทางการตลาด เน้นให้มีตลาดแบบมีพันธะสัญญา (Contract farming) อาทิ มะเขือเทศโรงงาน มีตลาดแบบมีพันธะสัญญากับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และถั่วลิสง มีตลาดแบบมีพันธะสัญญากับบริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด นอกจากนั้นในตลาดท้องถิ่นยังมีพ่อค้ารับซื้อในพื้นที่ และตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตัวแทนบริษัท และเกษตรกรยังสามารถขายผ่านตลาดออนไลน์ขายผ่าน Facebook page 3) เพิ่มมูลค่าสินค้า เสริมรายได้ เช่น การทำแตงโมรูปหัวใจสำหรับจำหน่ายช่วงเทศกาลต่างๆ และ ลดต้นทุน โดยจากการบริหารจัดการน้ำเนื่องจากพืชใช้น้ำน้อย ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าข้าวนาปรัง  จะช่วยลดการใช้ปุ๋ย เนื่องจากในดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นจากซากพืช อีกทั้งได้ปุ๋ยไนโตรเจนจากพืชตระกูลถั่ว และการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสลับกับการปลูกข้าวช่วยลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช

ใน ด้านสังคม ทำให้เกิดสมดุล 3 สร้าง ได้แก่ 1) สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรร่วมโครงการมากกว่า 18,502 ราย 2) สร้างเครือข่ายการผลิตและจำหน่ายผลผลิตพืชใช้น้ำน้อยมากกว่า 20 จังหวัด และ 3) สร้างเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น เทศกาลใส่ผ้าไทยเชิญชวนซื้อแตงโมและถ่ายภาพ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม เกิดสมดุล 5 ลด ประกอบด้วย 1) ลดปัญหาขาดแคลนน้ำจากการทำการเกษตรในฤดูแล้ง ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า 2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขังน้ำทำนาในฤดูแล้ง อย่างน้อย ปีละ 85,000 ไร่ 3) ลดการสะสมของสารเคมีทางการเกษตรในดินและน้ำ 4) ลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการเผาตอซังและฟางข้าว และ 5) ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยี 4ป +1 IPM คือ ป.ที่ 1 ปรับระดับพื้นที่นา Laser Land Levelling (LLL) การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ป.ที่ 2 เปียกสลับแห้ง Alternative Wetting and Drying  (AWD) การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ป.ที่ 3 ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน Site-specific Nutrient Management  (SSNM) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ป.ที่ 4 ปลอดการเผา Straw and Stubble Management (SSM) การจัดการฟางและตอซังข้าวอย่างเหมาะสม และ บวก 1 Integrated Pest Management (IPM) การป้องกันและกำจัดศัตรูข้าวแบบผสมผสาน/การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2566/67 กรมส่งเสริมการเกษตรจะมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรระบบการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดการใช้น้ำในการทำนาปรัง และลดความเสี่ยงผลผลิตสินค้าเกษตรเสียหายจากสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้การบริหารจัดการการผลิตพืชทั้งระบบ การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรังได้ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอาชีพเกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว