กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำเกษตรกรระวังโรค-แมลงติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปลูกมันสำปะหลังปลายฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงที่ติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ได้แก่ โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง และเพลี้ยแป้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่นิยมนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากรอบการปลูกที่ผ่านมา นำมาปลูกในฤดูการปลูกใหม่ เนื่องจากขาดแคลนท่อนพันธุ์ในพื้นที่ และเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากค่าท่อนพันธุ์นั้น ให้หมั่นสำรวจควบคุมศัตรูพืชในแปลงปลูกและตรวจสอบว่าไม่ได้นำท่อนพันธุ์ติดโรคหรือแมลงศัตรูมาขยายพันธุ์ ควรใช้มันสำปะหลังพันธุ์ทนทานต่อโรคได้แก่ ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 และหยุดขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์รหัส 89 และระยอง 11 ซึ่งเป็นพันธุ์อ่อนแอด้วย ในกรณีที่นำท่อนพันธุ์มาจากแหล่งเพาะปลูกอื่น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามาจากแหล่งปลอดโรคหรือเป็นท่อนพันธุ์สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคและแมลงได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการป้องกันโรคในมันสำปะหลังด้วยการเลือกท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งปลอดโรคแล้ว วิธีการสังเกตแมลงศัตรูมันสำปะหลังคือ สังเกตเพลี้ยแป้งที่ดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ลำต้นมันสำปะหลังบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่ เมื่อนำมาทำเป็นท่อนพันธุ์จะมีคุณภาพต่ำ เกิดการแพร่กระจายของแมลงและโรคที่ทำลายผลผลิตต่อเนื่อง โดยเพลี้ยแป้ง 4 ชนิด ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของมันสำปะหลัง ได้แก่ เพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งสีเทา หรือเพลี้ยแป้งแจ็คเบียดส์เลย์ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู รวมถึงควรสังเกตแมลงพาหะนำโรคในมันสำปะหลัง ได้แก่ แมลงหวี่ขาวยาสูบ และเพลี้ยจักจั่น ไม่ให้ติดมากับท่อนพันธุ์ที่จะนำไปขยายพื้นที่ปลูกต่อไป
สำหรับการป้องกันโรคและแมลงศัตรูมันสำปะหลัง เมื่อคัดเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดทนทานต่อโรคพร้อมที่จะเพาะปลูกแล้ว ให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารกำจัดแมลง เป็นเวลา 5 – 10 นาที ได้แก่ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ขณะเพาะปลูกควรเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สีชมพู และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติชนิดอื่น เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ ผีเสื้อหางติ่งตัวห้ำ และแตนเบียนชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย ประกอบกับงดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงพ่นในแปลงมันสำปะหลัง ในช่วงที่พบแมลงศัตรูธรรมชาติบนต้น มันสำปะหลัง หรือช่วงหลังจากการปล่อยศัตรูธรรมชาติใหม่ ๆ และหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ กำจัดวัชพืชทั้งในแปลงและบริเวณรอบแปลง ได้แก่ ต้นสาบม่วงที่เป็นพืชอาศัยของโรคในมันสำปะหลัง เป็นต้น และหากพบการระบาดของโรคให้ตัดยอดหรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงและพ่นสารกำจัดแมลงบริเวณที่พบและบริเวณโดยรอบที่มีการระบาดทันที ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำบนสลาก ได้แก่ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม หรือโพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว