เกษตรฯ แนะชาวสวนไม้ผล จัดการสวนถูกต้องตามหลักวิชาการ

791

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะชาวสวนไม้ผล จัดการสวนที่ถูกน้ำท่วมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่าน พัดปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีฝนกระจายต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้พื้นที่สวนผลไม้ในภาคตะวันออกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในเขตภาคตะวันออกได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคตะวันออกพร้อมให้กำลังใจเกษตรกรแล้ว โดยผลจากการลงพื้นที่พบว่า มีพื้นที่ปลูกไม้ผลภาคตะวันออก/ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 16,539 ไร่ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ตราด และสระแก้ว มีพื้นที่ประสบอุทกภัยมากที่สุด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566)  

 นางอัญชลี สุวจิตตานนท์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้าน นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดในเขตภาคตะวันออกได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกรแล้ว โดยได้สนับสนุนหัวเชื้อไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกร และให้คำแนะนำชาวสวนไม้ผลจัดการสวนไม้ผลที่ถูกน้ำท่วมขังได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งไม้ผลแต่ละชนิดมีความทนทานต่อภาวะน้ำท่วมที่แตกต่างกัน จำแนกความทนทานของไม้ผลต่อภาวะน้ำท่วมได้ 3 ประเภท คือ 1) ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมน้อย ไม้ผลกลุ่มนี้จะตายหลังจากนถูกน้ำท่วมขังเพียง 3-5 วัน เช่น ขนุน มะละกอ จำปาดะ สาเก 2) ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมปานกลาง  ไม้ผลกลุ่มนี้อาจทนอยู่ได้ในระหว่างน้ำท่วม 7-15 วัน เช่น ทุเรียน มังคุด ส้มเขียวหวาน มะไฟ และ 3) ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมมาก ไม้ผลกลุ่มนี้อาจทนอยู่ได้ในระหว่างน้ำท่วม 7-15 วัน เช่น มะพร้าว หมาก ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม มะพร้าว ฝรั่ง โดยมีคำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับเกษตรกรในช่วงระหว่างเกิดน้ำท่วมและภายหลังจากน้ำลด ดังนี้

ระหว่างน้ำท่วม เกษตรกรควรเร่งระบายน้ำออกจากสวนไม้ผลเพื่อกู้สวน โดยเตรียมเครื่องสูบน้ำ และทำทางระบายน้ำ หาค้ำยัน/พยุงต้นไม้ผลที่เอนหรือล้มเพื่อป้องกันการโค่นล้ม และให้ตัดแต่งกิ่งภายหลังน้ำลด

ภายหลังน้ำลด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเดินย่ำและใช้เครื่องจักรในพื้นที่ขณะดินเปียก ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม โดยเอากิ่งแก่ กิ่งที่ฉีกหัก เหี่ยวเฉา แน่นทึบออก ทำการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ผล โดยให้ปู๋ยทางใบสูตรเสมอ (12-12-12) หรือปุ๋ยเกร็ดสูตร (21-21-21) พร้อมพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช นอกจากนี้ขอให้ใช้สารเคมีกันเชื้อราราดหรือทาโคนต้นไม้เพื่อป้องกันโรครากเน่า หรือใส่สารชีวภัณฑ์ (ไตรโคเดอร์มา) เพื่อป้องกันเชื้อราในดิน หรือใช้ปูนขาวปรับสภาพดินให้เป็นกลาง เพื่อป้องกันการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่า รวมทั้งอาจจำเป็นต้องปลูกซ่อมแซมต้นไม้ผลที่ตายด้วย

            ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน