ประมงฯ จัดทีม “ฉลามขาว” ปราบปรามสินค้าสัตว์น้ำเถื่อน

262

กรมประมง…พร้อมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรมว.เกษตรฯจัดทีม “ฉลามขาว” เดินหน้าปราบปรามสินค้าสัตว์น้ำเถื่อนอย่างเข้มงวด

กรมประมง…จัดชุดเฉพาะกิจพิเศษ “ฉลามขาว” เดินหน้ายกระดับการกวาดล้างสินค้าสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย ตามนโยบายประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อนของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปิดช่องโหว่การลักลอบการนำเข้าสินค้าเถื่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโดยรวมกับเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในฐานะโฆษกกรมประมงว่า…ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมอบเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที เพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าว กรมประมง ได้ใช้กลไกลชุดเฉพาะกิจพิเศษภายใต้ชื่อ ฉลามขาว ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายทั่วประเทศ พร้อมเริ่มปฏิบัติการตามแนวทางที่วางไว้ทันที โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพิ่มความเข้มงวดในการลงพื้นที่ออกตรวจสอบสินค้าให้มากขึ้น มุ่งเน้นปฏิบัติหน้าที่แบบบูรณาการ พร้อมรายงานผลการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับชุดเฉพาะกิจพิเศษ ฉลามขาว เป็นชุดเฉพาะกิจเน้นในเรื่อง ควบคุม ป้องกัน รวมถึงการลักลอบการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย ได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย อาทิ สัตว์น้ำสวยงามมีชีวิต ปะการัง ดาวทะเล จระเข้และผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าคุ้มครอง โดยศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง 10 ศูนย์ และด่านตรวจประมง 24 ด่าน ทั้งด่านทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งครอบคลุมด่านนำเข้า – ส่งออกสินค้าประมงทั่วประเทศไทย โดยได้ดำเนินการตรวจป้องกันการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าประมงอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกรมศุลกากร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 92 มีโทษปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2558 ฝ่าฝืน มาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมากรมประมงได้เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะให้กับชุดเฉพาะกิจพิเศษฉลามขาว ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีตามกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับเรือประมงและสัตว์น้ำ การพัฒนาศักยภาพ ในการจำแนกชนิดพันธุ์สัตว์น้ำของเจ้าหน้าที่ การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการประเมินความเสี่ยง และการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น

การขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สินค้าทางการเกษตรเถื่อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการลักลอบนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประมงภายในประเทศ นอกจากการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สินค้าทางการเกษตรเถื่อนแล้วยังได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปทราบ ถึงผลกระทบของการลักลอบและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงขอความร่วมมือให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ กรณีพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ ระบบรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์กรมประมง (https://www.fisheries.go.th/complain/accept_justice.php) สายด่วนกรมประมง 0-2579-1878 หรือ 0-2579-3614-5 และศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต…รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย

กรมประมง ข่าว