มกอช. จ่อขยายตลาดส่งออกจิ้งหรีด ในสหภาพยุโรป และเม็กซิโก ลุยยกระดับกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด สู่มาตรฐาน GAP
นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูก โดยปัจจุบันพบว่า จิ้งหรีดถูกนำไปค้าขายในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง แปรรูปโดยทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ proten shakes ซึ่งกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก จากข้อมูลผลการศึกษาคาดการณ์ว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2018-2023 คิดแบบ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ที่ร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2023 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัท Research and Markets)
มกอช. เล็งเห็นถึงศักยภาพ และความเป็นไปได้ของตลาดแมลงเพื่อการบริโภค จึงเร่งส่งเสริม ผลักดันการเปิดและขยายตลาด การส่งออกสินค้าแมลงจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเป้าการเปิดตลาดไปยังสหภาพยุโรป และประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นตลาดใหม่ ซึ่งปัจจุบัน มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินไปแล้ว ในการผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ เพื่อเพิ่มเติมจิ้งหรีดในนิยามการกำกับควบคุมของกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด
รวมทั้ง จัดทำข้อมูลกฎหมายว่าด้วยด่านนำเข้า (Official Control) หากผ่านการพิจารณาเตรียมประกาศอนุญาตอย่างเป็นทางการใน Official Journal (ราชกิจจานุเบกษา) ของสหภาพยุโรป ภายในปี 2563 อาจส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปยังสหภาพยุโรปได้ และกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ (Novel Food) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และใช้เวลาพิจารณาในคณะกรรมการเฉพาะกิจของสหภาพยุโรปอีกไม่เกิน 1 ปี
นอกจากนี้ ประเทศเม็กซิโก ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มกอช. จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการขอเปิดตลาดรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็ง(สะดิ้ง) ของไทยในเม็กซิโก กับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัย และคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก หรือ SENASICA แล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาและการตอบกลับจากทางเม็กซิโก
“อย่างไรก็ตาม นอกจากการเร่งผลักดันการเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าจิ้งหรีดกับสหภาพยุโรปและเม็กซิโก ในรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็งให้สำเร็จแล้ว มกอช.ยังมีแนวทางที่จะผลักดันและส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรให้สามารถผลิตจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐานปลอดภัยตรงตามความต้องการของตลาดและมุ่งสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแมลงเพื่อการบริโภคของไทย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมขยายของเขตการดำเนินงานสู่ตลาดที่มีศักยภาพอื่น ๆ ผ่านการแสดง roadshow แสดงสินค้า การประชาสัมพันธ์ รวมถึงพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับแมลงที่มีศักยภาพอื่น ๆ เช่น ดักแด้ตัวไหมเพื่อการบริโภค แมลง black soldier fly เพื่อเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย”
นายครรชิต ยังกล่าวต่อว่า มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี และสามารถป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ เช่น จิ้งหรีด เพราะเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงไม่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชนบท
โดยที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) คู่มือการตรวจประเมิน ขั้นตอนการยื่นขอการรับรอง การจัดทําคู่มือปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มฯ เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ได้ โดย มกอช. มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุโขทัย พิษณุโลก บุรีรัมย์ และขอนแก่น นายครรชิต รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ