การยางฯ เร่งเดินหน้าภารกิจปรามผู้ค้ายางผิดกฎหมาย

305

รมว. ‘ธรรมนัส’ มอบ กยท. เร่งเดินหน้าภารกิจปรับสมดุลยางสร้างเสถียรภาพ ปรามผู้ค้ายางผิดกฎหมาย พร้อมดันนโยบายใช้ยางใน – นอกราชอาณาจักร

‘ร้อยเอกธรรมนัส’ แถลงนโยบายทิศทางบริหารยางพารา เน้นปรับสมดุลยางสร้างเสถียรภาพในประเทศ เร่งตรวจสอบสต๊อกยาง พื้นที่สวนยางเพื่อจัดทำ Big Data พร้อมสกัดการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย เผยแนวทางร่วมเอกชนจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มการใช้ในประเทศ กำชับ กยท. เร่งเดินหน้าภารกิจ ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกในอนาคต

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

วันนี้ (6 พ.ย. 66) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพารา โดยมีผู้บริหารระดับสูงของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท.  นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ  นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ และตัวแทนพนักงานในสังกัด ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ เข้ารับฟังนโยบายอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่

ร้อยเอกธรรมนัส ได้ให้ทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยาง ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยได้มอบแนวทางการยกระดับยางพารามุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก 1. การปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ โดยมอบหมายให้ กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เช็คสต๊อกยางในประเทศ นำปริมาณยางที่มีอยู่จริงมาเปรียบเทียบเพื่อทราบข้อมูลปริมาณยางที่ถูกต้อง และสำรวจข้อมูลสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและพื้นที่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน เพื่อจัดทำเป็น Big Data ใช้ในการบริหารจัดการยางให้เกิดเสถียรภาพต่อไป 2. เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (ยางพารา) จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และต้องมีการเพิ่มบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิด 3. ดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนกับ กยท. ตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยมุ่งที่ยางล้อรถยนต์ เพื่อใช้ในหน่วยงานราชการทุกแห่งและใช้ในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาหารือกับหลายบริษัท รวมไปถึงการส่งเสริมใช้ยางนอกราชอาณาจักรควบคู่ไปด้วย

“เชื่อมั่นว่า ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหาร กยท. จะสามารถเดินหน้าหามาตรการต่าง ๆ มาขับเคลื่อนให้ราคายางดียิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาจะขยับขึ้น แต่จะต้องดีกว่านี้ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ดีกินดี ไม่มีหนี้สิน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” รมว.เกษตร กล่าวย้ำ

ด้านนายณกรณ์ กล่าวถึงบทบาทการดำเนินงานของ กยท. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ ว่า กยท. มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบยางพาราของประเทศ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวนกว่า 1.7 ล้านราย พื้นที่สวนยางรวมกว่า 19.8 ล้านไร่ ซึ่งได้เร่งสั่งการให้ กยท. ในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยางและปริมาณยางในสต๊อก เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data) ตามนโยบายของ รมว.กษ. รองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง (Traceability) และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สร้างสมดุลยาง ตลอดจนการควบคุมปริมาณผลผลิตยาง ด้วยการจัดทำ Zoning พื้นที่กรีดยาง หยุดกรีดในพื้นที่ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ มีโรคระบาด หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยชาวสวนยางจะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

นายณกรณ์ ยังกล่าวถึงนโยบาย 1 ลด 3 เพิ่ม (R3I) ว่า ตามนโยบายของ กษ. ในการยกระดับอุตสาหกรรมยาง กยท.จึงดำเนินการมุ่ง ลดต้นทุนการผลิต (Reduce Cost) ด้วยการจัดสรรปัจจัยการผลิต สนับสนุนเงินกู้-เงินอุดหนุน เพิ่มผลผลิต (Increase Yield) บริหารจัดการสวนยาง ตั้งแต่พันธุ์ยาง ระบบกรีด และการจัดการโรค เพิ่มรายได้ (Increase Income) ส่งเสริมการสร้างรายได้ทางเลือกในสวนยาง เช่น ปลูกพืชอื่นเสริมหรือเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพิ่มมูลค่า (Increase Value) โดยการพัฒนามาตรฐานการแปรรูปยาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการวิเคราะห์ผลผลิต ทั้งนี้ กยท. ได้ดำเนินงานและขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนยางให้มีความยั่งยืน โดยเน้นให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยึดถือผลประโยชน์ของชาวสวนยางเป็นหลักเสมอมา โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นต้น

“กยท. พร้อมขานรับนโยบายของท่าน รมว.เกษตรฯ โดยจะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยาง เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่
การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน”
 ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว