เกษตรฯ ตั้งศูนย์ AIC ครบ 77 จังหวัด

2,016

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด ตั้งศูนย์ AIC ครบ 77 จว. ขับเคลื่อนการปฏิรูปเกษตรเชื่อมโยงเทคโนโลยีเกษตร 4.0

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) เกิดขึ้น ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดให้ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก โดยได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อันดับท็อปเทนของโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร หรือ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2 – 3% ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ AIC นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด และผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่มุ่งการปฏิรูปภาคการเกษตรไทยให้ได้ผลสำเร็จ จึงกำหนดนโยบายการตลาดนำการผลิต เน้นขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ ลดต้นทุนการผลิต ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับสินค้า เพิ่มมูลค่าผลผลิต และมีความปลอดภัย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค

            ทั้งนี้ ความสำเร็จในการขับเคลื่อนศูนย์ AIC ในขณะนี้ มีศูนย์ AIC รวมจำนวน 83 แห่ง รวม 77 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ ศูนย์ AIC 17 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 2 แห่ง รวม 19 แห่ง ภาคกลาง ศูนย์ AIC 26 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 3 แห่ง รวม 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ AIC 20 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 1 แห่ง รวม 21 แห่ง ภาคใต้ ศูนย์ AIC 14 แห่ง

แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ AIC จะมีการเชื่อมโยง ดังนี้

1) เชื่อมโยงกับคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech,  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce, และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness)

2) เชื่อมโยงกับคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืน ได้แก่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

3) เชื่อมโยงกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)  882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน

4) เชื่อมโยงกับการดำเนินโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

AIC ในส่วนของสถาบันการศึกษา

1) การให้บริการ เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำ เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นต้น

2) การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดอบรมบ่มเพาะเกษตรกร แหล่งเรียนรู้ และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer 

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce ที่มีนายศตพล จันทร์ณรงค์ เป็นประธาน ได้จัดทำโครงการหลักสูตรฝึกอบรมการใช้ E-commerce เพื่อสร้างรายได้ โดยผ่านหลักสูตรออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. การเตรียมความพร้อม พื้นฐานสำหรับการเข้าสู่  E-commerce รวมถึงการทำเกษตรแบบ 4.0 2. การใช้งานระบบ และ platform ต่างๆ ด้าน E-commerce และ 3. การตลาด และการขายบน E-commerce เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการขายของจาก platform ต่างประเทศ ซึ่งได้ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรที่มีสินค้าพร้อมขาย สามารถขายผ่านอีคอมเมอร์ซ บนแพลตฟอร์ม อีเบย์ (eBay) และเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรม ได้เรียนรู้และลงมือขายสินค้าเกษตร ผ่านอีคอมเมอร์ซได้จริง นายศตพล จันทร์ณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce กล่าวว่า E-commerce learning center หรือ ศูนย์การเรียนรู้อีคอมเมิร์ซเกษตรออนไลน์ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ E-commerce จากที่บ้าน โดยผ่านระบบออนไลน์ ในการใช้ Facebook group โดยอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นผู้ให้ความรู้ โดยแบ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ E-commerce การใช้ระบบ และ platform ต่างๆ การตลาดและการขายบน E-commerce  การพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็น  การปรับ mindset ในการดำเนินธุรกิจการขายอาหารผ่านออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจ สามารถขอเข้าร่วมการเรียนได้ที่ Facebook group  MOAC  E-commerce learning center