ภาคเกษตร ปักธงลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯ พร้อมเตรียมประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระยะ 5 ปี ในปลายปีนี้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศ (climate system) เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศโลก เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนและในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายจนเป็นที่น่ากังวลในปัจจุบัน ซึ่งจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือที่เรียกว่า COP26 ในปี 2564 ประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลกได้ประกาศเจตจำนงยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 – 25 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 (2573) โดยเป็นการดำเนินการภายในประเทศ ร้อยละ 30 และหากได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศ จะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีกร้อยละ 10 ซึ่งผลจาก COP26 นำไปสู่การปรับปรุงเป้าหมาย “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution: NDC) อันเปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาว่าประเทศไทยจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ประกาศไว้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาคเกษตรในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกเฉกเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า ประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 373 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจากภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งมากที่สุด 261 ล้านตันฯ (ร้อยละ 70) รองลงมาคือ ภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ (ร้อยละ 15) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 38 ล้านตันฯ (ร้อยละ 10) และภาคของเสีย 17 ล้านตันฯ (ร้อยละ 5)
หากพิจารณาในส่วนของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ จะพบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด 29 ล้านตันฯ (ร้อยละ 51) รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน 13 ล้านตันฯ (ร้อยละ 22) การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ 11 ล้านตันฯ (ร้อยละ 19) การจัดการมูลสัตว์ 3 ล้านตัน (ร้อยละ 6) และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร 1 ล้านตัน (ร้อยละ 2)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักและร่วมขับเคลื่อนภารกิจตามเป้าหมาย NDC และภารกิจการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร จึงเป็นที่มาของการบรรจุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯ ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้งของกรมการข้าว และกรมชลประทาน การนำของเสียจากมูลสุกรของภาคปศุสัตว์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าของกรมปศุสัตว์ การลดใช้ปุ๋ยเคมีด้วยแอปพลิเคชั่นรู้จริงพืชดินปุ๋ย (TSFM) และโครงการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ผสมปุ๋ยใช้เองของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งโครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตของกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคเกษตรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573
ด้านนางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของสารสนเทศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” ประกอบด้วยพันธกิจ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร 2) มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว 3) พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) พัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนและทุกระดับ และ 5) ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้สนใจต้องการทราบรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.oae.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยี ทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0627 ในวันและเวลาราชการ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว