เกษตรฯ เผยผลผลิตสินค้าเกษตร มีแนวโน้มลดลง เหตุเอลนีโญ

339

สศก. ระบุ ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดปีนี้ มีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว เหตุเอลนีโญกระทบพร้อมติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อปรับค่าพยากรณ์ต่อไป

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึง  ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายนวนิตย์ พลเคน) เป็นประธาน ว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญปีนี้หลายชนิดมีแนวโน้มลดลง อาทิ ข้าวนาปี มันสำปะหลังโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ มะพร้าวผลแก่ ปลานิล และปลาดุก โดยมาจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนมาล่าช้า และปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2566 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยลง เกิดความแห้งแล้ง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ บางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกันยายน 2566 มีฝนตกหนักมากในบางพื้นที่ซึ่งทำให้ผลผลิตบางสินค้าได้รับความเสียหายหากพิจารณาสินค้าแต่ละชนิด พบว่า

ข้าวนาปี ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 61.928 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.45 และผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 413 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงร้อยละ 2.82 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง ร้อยละ 4.28 ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก และปริมาณน้ำฝนน้อย จากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2566 ทำให้ฝนทิ้งช่วง เกิดความแห้งแล้ง ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าว นอกจากนี้ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 6.844 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 5.72  และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศ 723 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงร้อยละ 1.90 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.84  ทั้งนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่เพาะปลูก จากการที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนมันสำปะหลังโรงงานและอ้อยโรงงาน แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและกระทบแล้งในระยะการเจริญเติบโตทำให้ฝักลีบ ขนาดเล็กไม่สมบูรณ์

มันสำปะหลังโรงงาน ปี 2567 คาดว่าเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศ 9.049 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.22  และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,088 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 6.05 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 27.941 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.08 ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปี 2566 ประสบภาวะแล้งทำให้ต้นมันสำปะหลังโรงงานได้รับความเสียหาย จึงต้องปลูกซ้ำหลายรอบ และการขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสถานการณ์หัวมันเน่าในปีที่ผ่านมาและภาวะแล้งช่วงต้นปี 2566 เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่าหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากภาวะแล้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้ต้นมันสำปะหลังโรงงานเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้ต้นมันสำปะหลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคใบด่าง เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง

สับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่เก็บเกี่ยว 351,841 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 21.28 และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,690 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.78 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1.298 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 24.27 ทั้งนี้ เนื่องจาก เกษตรกรได้ลดเนื้อที่ปลูกใหม่จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และการปรับตัวลดลงของราคาสับปะรด ประกอบกับบางพื้นที่ประสบภาวะแล้ง เกษตรกรบางรายจึงชะลอการบังคับออกดอกในปีนี้ ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากในบางพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง ปุ๋ยเคมียังคงมีราคาสูง และราคาสับปะรดยังคงทรงตัว เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการบำรุงรักษาจึงปรับลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง ทำให้ต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์ ผลมีขนาดเล็ก

ปาล์มน้ำมัน ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 6.248 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.85 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 2,912 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงร้อยละ 3.89 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 18.197 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.10 ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปีจนถึงเดือนเมษายน ปี 2566 ต้นปาล์มน้ำมันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทางใบบางส่วนพับ ต้นปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ ทะลายที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงต้นปีแห้งฝ่อคาต้น

ยางพารา ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่กรีดได้ 22.082 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.24 และผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ 213 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.84 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.707 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.64 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนทิ้งช่วง เกิดภาวะแล้ง สภาพอากาศร้อนจัด เกษตรกรจึงเปิดกรีดช้า และแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคใต้เกิดโรคระบาดใบร่วง ส่งผลให้น้ำยางออกน้อยกว่าปีปกติ

กาแฟ ปี 2567 คาดว่าเนื้อที่ให้ผล 189,644 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 7.13 และผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 78 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.70  โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 14,713 ตัน ลดลงร้อยละ 11.23 เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลลดลงตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสต้าซึ่งปลูกมากในภาคใต้ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์อาราบิก้าในแหล่งผลิตทางภาคเหนือเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นกาแฟที่ปลูกแซมในสวนยางพารา และชาอัสสัม เมื่อปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้เป็นปีแรก ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตทางภาคใต้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2566 มีภาวะแล้งยาวนาน สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ติดผลน้อย และผลที่ติดแล้ว แห้งคาต้น 

มะพร้าวผลแก่ ปี 2566 คาดว่าเนื้อที่ให้ผล 834,471 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.37 และผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 808 ผลต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.65 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 673.845 ล้านผล ลดลงร้อยละ 0.37 เนื่องจากแม้ว่าในปี 2565 หลายพื้นที่มีฝนตกสม่ำเสมอ ต้นมะพร้าวสมบูรณ์ และติดจั่นดี แต่ในปี 2566 ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงช่วงต้นฤดูฝน หลายพื้นที่โดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญของมะพร้าว สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของมะพร้าว ส่งผลให้ต้นมะพร้าวไม่สมบูรณ์ ผลมีขนาดเล็ก และมีการสลัดผลอ่อนทิ้ง

ปลานิล ปี 2566  เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 533,066 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.59 ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปี 481 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.22 โดยปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ 256,484 ตัน ลดลงร้อยละ 4.79 ทั้งนี้ เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง เกิดภาวะแล้งตั้งแต่ต้นปีถึงกลางปี 2566 ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอในการเลี้ยง จึงคาดว่าเกษตรกรจะชะลอการปล่อยลูกพันธุ์ปลาและลดรอบการเลี้ยง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางรายลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพราะต้นทุนอาหารสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2566 ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย พะเยา และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ และภาคกลาง เช่น จังหวัดลพบุรี นครนายก และปราจีนบุรี ประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้แหล่งเลี้ยงปลานิลเสียหายจากน้ำท่วมขัง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ปลาดุก ปี 2566  เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 78,831 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.51 ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปี 1,136 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.91 โดยปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ 89,525 ตัน ลดลงร้อยละ 4.36  ทั้งนี้ เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต และต้นทุนในการเลี้ยงที่สูงขึ้น ประกอบกับเกิดภาวะแล้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ปริมาณน้ำฝน และน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่การเลี้ยงลง ส่วนผลผลิตต่อไร่ ลดลงเนื่องจากปัจจัยการผลิต เช่น อาหารปลาดุกยังมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์เพื่อลดปริมาณการกินอาหารของปลา ประกอบกับในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2566 ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง และสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดมุกดาหาร หนองบัวลำภู และอุดรธานี และภาคกลาง เช่น จังหวัดสระบุรี ตราด และปราจีนบุรี เกษตรกรประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้แหล่งเลี้ยงปลาดุกเสียหายจากน้ำท่วมขัง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ทั้งนี้ สศก. จะยังคงติดตามสถานการณ์การผลิต ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชและสัตว์ ในช่วงการเจริญเติบโต จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำมาปรับค่าพยากรณ์ต่อไป สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลพยากรณ์ เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 02 561 2870 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว