ประมงฯ เฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีตกค้างในอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

242

กรมประมง จับมือ อย. และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมผนึกกำลัง !! เฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีตกค้างในอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่นหนุนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มทำการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างจากการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคของไทยอาจยังมีความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น นั้น

ดร.ถาวร ทันใจ
รองอธิบดีกรมประมง

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการประสานร่วมกันดำเนินการในการเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างตรวจสอบสารกัมมันตรังสีที่อาจตกค้างในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า และร้านอาหารญี่ปุ่นภายในประเทศอย่างเข้มงวด ภายใต้ภารกิจความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมประมงได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจาก อย. ในการตรวจสอบสินค้าปลาและกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง และในส่วน อย. ทำการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น หมึก หอย และปู ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการตรวจวิเคราะห์

ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) กรมประมงและ อย. ได้มีการสุ่มตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตรังสี (ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137)) จำนวนทั้งสิ้น 135 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า ทั้งทางท่าอากาศยานที่ขนส่งโดยเครื่องบิน และทางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางเรือ จำนวน 105 ตัวอย่าง รวมถึงการสุ่มตรวจ ณ ร้านอาหารญี่ปุ่นภายในประเทศอีก 30 ตัวอย่าง ซึ่งสินค้าที่สุ่มตรวจเป็นสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หมึก หอย ปู และตัวอย่างอาหารแปรรูป โดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนผู้บริโภคได้มั่นใจในความปลอดภัยของการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเชื่อมั่นในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกรมประมง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมประมง อย. และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการกำหนดแผนการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรียบร้อยแล้ว และกรมประมงได้เริ่มดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนมั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และกรมประมงยังได้มีการติดตามข้อมูลและสถานการณ์ดังกล่าวทั้งจากในและต่างประเทศเพื่อประกอบการดำเนินงานด้วย

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนผู้บริโภคพบเห็นอาหารทะเลนำเข้าต้องสงสัยต่อการปนเปื้อนหรือต่อความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมประมง : ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต โทรศัพท์ 0-2579-1878 และ 0-2579-3614-5

กรมประมง ข่าว