สสก.5 สงขลา น้อมนำหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต

243

สสก.5 สงขลา ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต สร้างการมีส่วนร่วม ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคง ยั่งยืน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่า การที่ประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ ประชาชนเหล่านี้จะต้องทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมคนให้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ ให้รู้จักปรับตัวในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ขึ้นในปี 2556 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตของตน และครอบครัวในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างดีและมีความปกติสุข โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถพึ่งตนเอง มีอาชีพมีรายได้ ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ดีขึ้น มีกำลังสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการดำเนินการกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ทั้งหมด 118 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด 105 กลุ่ม ภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด 12 กลุ่ม และภาคเหนือ 1 จังหวัด 1 กลุ่ม โดยในส่วนภาคใต้ ดำเนินการที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และจังหวัดระนอง จังหวัดละ 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีแนวทางในการพัฒนาการเพิ่มศักยภาพการพึ่งตนเองในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน ดังนี้

การเพิ่มศักยภาพการพึ่งตนเองในระดับครัวเรือน

1. ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ ประมง ไม้ผล และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยใช้การเกษตรแบบผสมผสาน ปลอดภัยจากสารพิษ ส่งเสริมการแปรรูป และถนอมอาหารไว้บริโภค พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

2. ด้านแหล่งที่อยู่อาศัย พัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง สะอาด และปลอดภัย ตามอัตภาพ พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย

3. ด้านสถานะทางการเงินของครัวเรือน ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน ลดภาวะหนี้สิน ส่งเสริมการออม

4. ด้านการศึกษา ส่งเสริมให้สมาชิกในครัวเรือนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้บุตรมีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

5. ด้านครอบครัวเป็นสุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมของสมาชิกในครอบครัว ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวประพฤติตนอยู่ศีลธรรม ไม่เล่นการพนัน ดื่มสุรา หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่งเสริมสุขภาวะของครอบครัว

การเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งในระดับชุมชน

1. ด้านการบริหารจัดการและกระบวนการกลุ่ม พัฒนากลุ่มมีโครงสร้างการบริหารงานกลุ่ม ในรูปแบบคณะกรรมการ ส่งเสริมให้กลุ่มมีกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของสมาชิก ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามเป้าหมายของกลุ่ม ส่งเสริมให้กลุ่มมีการวางแผนการดำเนินงานของกลุ่มร่วมกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการบริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสม เป็นธรรม

2. ด้านการผลิตของกลุ่ม ส่งเสริมให้กลุ่มทำกิจกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมลดรายจ่าย เช่น การปลูกพืชผักในลักษณะ แปลงรวม การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทำน้ำยาล้างจาน ฯลฯ และกิจกรรมสร้างรายได้ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ศิลปหัตถกรรม ศิลปะประดิษฐ์ ฯลฯ ส่งเสริมให้กลุ่มมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ส่งเสริมให้มีการใช้ภูมิปัญญา หรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน

3. ด้านการเงินและบัญชี ส่งเสริมให้กลุ่มมีการระดมทุนจากสมาชิก เพื่อเป็นทุนสำหรับกิจกรรมของกลุ่ม ส่งเสริมให้มีการออมทรัพย์ ส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีการเงิน ที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

4. ด้านการตลาด ส่งเสริมให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตในชุมชน หรือพื้นที่อื่นๆตามความเหมาะสม สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นในการแปรรูป เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทางการตลาดให้แก่สมาชิก

5. ด้านการช่วยเหลือสังคม ส่งเสริมให้กลุ่มจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่สมาชิกและชุมชน ส่งเสริมให้กลุ่มช่วยเหลือสมาชิกที่อ่อนแอ

และในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สุขภาวะชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมขยับกาย ขยับความคิดเพื่อสุขภาพกายและจิตสร้างสุขภาวะพึ่งตนเองแบบง่ายสบายตัว กิจกรรมสมุนไพรพื้นบ้านและการฝึกทำผลิตภัณฑ์ชุมชน (ยาสามัญประจำบ้าน) เช่น ทำยาดม ยาอมแก้เจ็บ คอ ยาหม่อง น้ำมันไพร ใช้ทา ถู นวด แก้ปวด เคล็ด ขัด ยอก ทำสมุนไพร พอกหน้า แช่มือ แช่เท้า ทำลูกประคบ เป็นต้น ฝึกการทำกัวซา การกดจุดเพื่อผ่อนคลาย และการปลูกพืชสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ จากป่าข้างบ้าน ป่าครอบครัว ป่าชุมชน ทั้งนี้กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติเพื่อสุขภาวะที่ดีของตนเองและชุมชนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว