เกษตรฯ กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 66/67

373

กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 เน้นปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้ว (1 พ.ย. 66 – 30 เม.ย. 67) และจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(climate change) และคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลให้ในบางพื้นที่จะประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำและปริมาณน้ำต้นทุนอาจจะมีไม่เพียงพอให้ใช้ในระยะยาว โดยช่วงฤดูแล้งนี้ได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำการเกษตรนอกเขตชลประทาน จำนวน 924,438 ไร่ ใน 13 จังหวัด 35 อำเภอ 76 ตำบล ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้มีมติเห็นชอบแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง นโยบาย และมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 ซึ่งกำหนดให้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เห็นควรให้จัดสรรน้ำตามระบบรอบเวร หรือกำหนดวิธีการเพาะปลูกที่ประหยัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรม และการเพาะปลูกพืชต้นฤดูฝนปีถัดไปรวมทั้งได้มีการวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา 2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย บรรเทาสาธารณภัย จารีตประเพณีและคมนาคม เป็นต้น 3) เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน สำหรับอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม2567 4) เพื่อการเกษตร 5) เพื่อการอุตสาหกรรม และ 6) เพื่อการพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร

นายครองศักดิ์ สงรักษา
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ และความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ดังนี้ แผนการพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 10.66 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 8.13 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 5.80 ล้านไร่นอกเขตชลประทาน 2.33 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน2.53 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.57 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.96 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 4.90 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 4.20 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 3.03 ล้านไร่นอกเขตชลประทาน 1.17 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน0.70 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.13 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.57 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 1.13 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.86 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน0.27 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.17 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.10 ล้านไร่)

สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง เขื่อนแม่มอก จังหวัดสุโขทัย เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ควรมีให้ความสำคัญกับการปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้งที่ถูกต้องการรักษาความชื้น และลดการเผาตอซัง หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2567 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว