การแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชนสร้างอาชีพมั่นคง

247

โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชนสร้างอาชีพมั่นคง ต่อยอดมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชน ปี 2566 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศก. เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร และเชื่อมโยงผลักดันงานวิจัยและพัฒนา มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการ 76 จังหวัด เกษตรกร 2,360 รายและพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 360 ผลิตภัณฑ์ ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ ให้กับกลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ

จากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ 2566 รอบ 12 เดือน (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) พบว่า กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การตลาดทั้ง Online และ Offline และการบริหารจัดการองค์กรให้กับกลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดำเนินการได้ 2,536 ราย (ร้อยละ 107 ของเป้าหมาย 2,360 ราย) และกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ต้นแบบโดยการคัดเลือกจากกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเข้าร่วมกิจกรรม ดำเนินการได้ 364 ผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 101 ของเป้าหมาย 360 ผลิตภัณฑ์)

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 กลุ่มในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ราชบุรี นครปฐม รวมทั้งการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2566 พบว่า กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนได้นำความรู้ที่ได้รับมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรภายในชุมชน ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาของโครงการ ซึ่งทำการเข้าไปศึกษาความต้องการของกลุ่มฯ ร่วมศึกษา คิดค้น ทดลอง จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์และทำการทดสอบตลาด โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม และออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ สามารถจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้ เช่น เบคอนจากเปลือกกล้วยหอม เซรั่มบำรุงผิวหน้าสูตรเข้มข้นจากวุ้นเห็ดเยื่อไผ่ โปรตีนรังไหมรูปแบบผง  ข้าวกรอบธัญพืช น้ำพริกเห็ดอบกรอบ กระเป๋าผ้าทอมือ ลอดช่องสแน็คพร้อมทาน ยาหม่องสติ๊ก หมอนชาโคลเพื่อสุขภาพ ซึ่งพบว่า รายได้ของเกษตรกรทั้ง 364 กลุ่ม หลังเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น โดยก่อน เข้าร่วมโครงการกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีรายได้รวม 124.61 ล้านบาท ภายหลังหลังเข้าร่วมโครงการกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีรายได้ (ช่วงตุลาคม 2565- กันยายน 2566) รวมกันทั้งสิ้น 148.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 19) ทั้งนี้ ภาพรวมกลุ่มเกษตรกรมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการโครงการและติดตามให้คำแนะนำแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว