อุตุฯ เตือนพายุอำพันบริเวณอ่าวเบงกอล กระทบหลายจังหวัด
เมื่อเวลา 10.00 น. พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 86.8 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 220 กม/ชม และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันออกเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 15 กม/ชม คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศอินเดียตอนบน และประเทศบังคลาเทศในช่วงวันที่ 20-21พ.ค. 63
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณ ดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่อาจจะทำเกิดน้ำป่าไหลหลากได้
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือเข้าใกล้พายุ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 21 พ.ค. 63 โดยจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ และขอนแก่น
ภาคกลาง : จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก : จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
วันที่ 20-21 พฤษภาคม 2563
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม
ภาคกลาง : จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท และนครปฐม
ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง