กลุ่มแปลงใหญ่โพนสวรรค์ จ.นครพนม ต่อยอดเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืน

303

‘กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์’ จ.นครพนม สู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืน

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การดำเนินนโยบายของจังหวัด ในประเด็นการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แผนงานส่งเสริมการผลิตสินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย ให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าเกษตรมูลค่าสูง และจัดการตลาดสินค้าเกษตร โดยในปี 2566 (ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ณ 23 พฤศจิกายน 2566) พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดนครพนมประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยทำนาเป็นหลักและทำเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว ไม้ผล พืชผัก สมุนไพร และเห็ด ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ Organic Thailand รวม 250 แปลง พื้นที่รวม 467.31 ไร่

นางสาวอุษา โทณผลิน
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สศท. 3 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ กรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดกลุ่มนาแปลงใหญ่ของจังหวัดนครพนม ประจำปี 2566 ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่เริ่มดำเนินการปี 2562 มีนายชินวุฒิ โยลัย เป็นประธานแปลงใหญ่ และนายวุฒิชัย ชินบูรณ์ ผู้ประสานงานและเลขา ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 63 ราย พื้นที่ปลูกรวม 996 ไร่ อยู่นอกเขตชลประทานจึงต้องอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติและน้ำฝนในการเพาะปลูก โดยเกษตรกรนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ร้อยละ 92 สำหรับจำหน่ายและแปรรูป และข้าวเหนียว กข 6 ร้อยละ 75 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน สำหรับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ผ่านการรับรองรองมาตรฐาน GAP และที่สำคัญกลุ่มแปลงใหญ่ได้มีการทำข้อตกลงซื้อขายผลผลิต (MOU) กับสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด โดยเป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่งต่อไปยังสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด (The Roi-et Organic Co-operative Ltd. ROC) ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อข้าวอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล ได้แก่ Japanese Agricultural standards (JAS) ของประเทศญี่ปุ่น , National Organic Program (NOP) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ European Unity (EU) ของสหภาพยุโรป เพื่อส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศ

สถานการณ์การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,043.54 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรเพาะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้ผลผลิตรวม 300 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 387.60 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขายข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ ความชื้น 14 – 15% (ราคา ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566) อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน หรือ 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาขายจะสูงกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิทั่วไป ร้อยละ 14 เนื่องจากการผลิตมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานของผู้รับซื้อ เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5,814 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 770.46 บาท/ไร่/ปี ด้านภาพรวมสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 84 จำหน่ายให้กับสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด ผลผลิตร้อยละ 8 แปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์พื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง และผลลิตอีก ร้อยละ 8 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน

            ในส่วนของการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มแปลงใหญ่ได้มีการแปรรูปเป็นข้าวเม่า และได้มีการแปรรูปเป็นข้าวพองธัญพืชและขนมเยลลี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่าย นอกจากนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ได้พัฒนายกระดับกิจการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์ ได้แก่ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องหยอดเมล็ด ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่วางแผนขยายตลาดหรือเข้าสู่ตลาดใหม่ในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดบูธนิทรรศการ และเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของกลุ่มเอง เพื่อสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศได้

            ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มแปลงใหญ่ในการผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพ อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน (Q Shop) และบรรจุภัณฑ์ กรมการข้าว สนับสนุนโรงเรือน โรงสีข้าวอินทรีย์เครื่องบรรจุภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า (3-เฟส) อบรมและตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดสกลนครสนับสนุนการฝึกอบรมการทำให้ข้าวอินทรีย์มีคุณภาพมากขึ้น อาทิ การตัดพันธุ์ปน สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมสนับสนุนและพัฒนากระบวณการผลิตให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม สนับสนุนการฝึกอบรมในเรื่องการตลาดออนไลน์ จัดประกวดและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ส่งเสริม BCG model ภายใต้โครงการ BCG – Naga Belt Road เน้นการทำนารักษ์โลก และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมจังหวัดอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจข้าวอินทรีย์ หากท่านใดสนใจข้อมูลแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ สอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 (สศท.3) โทร 04 2292 557 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว