กรมหม่อนไหม จัดงานวันสถาปนา 14 ปีกรมหม่อนไหม

218

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานวันสถาปนา “14 ปีกรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน”

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี “14 ปีกรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน” พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงาน โดยมีนายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม ให้การต้อนรับ

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหมว่า กรมหม่อนไหมจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อันนำมาสู่การสถาปนากรมหม่อนไหมขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ด้านการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาหม่อนไหม ทั้งระบบ รวมถึงการอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาไหม ให้คงอยู่คู่ประเทศไทย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานภายใต้ภารกิจสำคัญ เพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้การตลาดนำการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ด้าน นายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมในปีนี้ครบรอบ 14 ปี ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ธีม “14 ปีกรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน” ตลอดระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 – 6 ธันวาคม 2566 โดยมีนิทรรศการนำเสนอผลงานของกรมหม่อนไหม แนวทางการยกระดับ “หม่อนไหมพะเยา” สู่ความยั่งยืน การยกระดับผลิตภัณฑ์หม่อนไหมรองรับ BCG Model ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดหนองบัวลำภู (ผ้าหมี่สลับขิด) การพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน ด้วยภูมิปัญญาการใช้เส้นไหมไทย เทคโนโลยีพันธุ์ไหมที่เหมาะสมในการผลิตผ้าห่มใยไหม การผลิตเส้นไหมไทยสาวมือ มกษ. 5900-2565 Buriram Model และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมระบบแปลงใหญ่ เป็นต้น ตลอดจน การจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรได้อีกทาง

กรมหม่อนไหม ข่าว