สศก. เกาะติดโครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ

269

สศก. เกาะติดโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ 8 จังหวัด แปลงต้นแบบสินค้าข้าว ช่วยผลผลิตเพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายได้จริง

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสู่เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วยเกษตรอัจฉริยะ โดยปีงบประมาณ 2566 มีการกำหนดแปลงต้นแบบจากพื้นที่เกษตรกรที่มีความพร้อมด้านการผลิต มีพื้นที่เพียงพอต่อการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ ในแปลง และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งน้ำในการทำเกษตร โดยดำเนินการในหลากหลายสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และ ทุเรียน เป็นต้น

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ติดตามโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ กรณีสินค้าข้าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการปลูกข้าวโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการจัดการพื้นที่ปลูกข้าว และขยายพื้นที่การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตข้าว โดยโครงการฯ กำหนดเป้าหมาย 150 ไร่  รวม 14 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมาย 600 ราย  พบว่า สามารถดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแปลงต้นแบบครบ ตามเป้าหมายพื้นที่ 150 ไร่ 14 จังหวัด

นอกจากนี้ จากลงพื้นที่ติดตามโครงการฯ แปลงต้นแบบในพื้นที่จังหวัดพิจิตร สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี เชียงใหม่ สกลนคร และ ชัยนาท พบว่า กรมการข้าว มีการจัดหาเทคโนโลยีให้เกษตรกร รวมถึงค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและสารเคมี  ซึ่งหน่วยงานจะพิจารณาจากความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก แล้วนำมาปรับใช้ในแปลง โดยกระบวนการเตรียมดิน
มีการปรับระดับพื้นดินให้สม่ำเสมอกันทั้งแปลงด้วย Laser Land Leveler (LLL) ซึ่งทำให้การจัดการระบบน้ำในแปลงนามีความสม่ำเสมอทั้งแปลง ลดการเกิดวัชพืช และช่วยทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน

โดยพบว่า กรณีนาหว่าน มีการใช้โดรนในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ทำให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์กระจายทั่วแปลง  ส่วนกรณีนาดำ มีการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเครื่องเพาะข้าวอัตโนมัติ ดำเนินการปลูกโดยรถปักดำอัตโนมัติ 6 แถว 8 แถว มีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใช้โดรนในการใส่ปุ๋ยและสารเคมี มีการติดตั้งท่อวัดระดับน้ำอัจฉริยะ (Water Leveling) เพื่อติดตามระดับน้ำที่ปล่อยลงแปลงนาให้มีความเหมาะสมกับความต้องการน้ำ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชัน Blynk และมีการติดตั้งสถานีตรวจอากาศ (Weather Station) เพื่อวัดความชื้นและสภาพอากาศ นอกจากนี้ ในกระบวนการฉีดพ่นสารเคมี จะดำเนินการพ่นสารเคมีคุมหญ้าและฆ่าหญ้าด้วยโดรน ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าว สามารถลดการสัมผัสกับสารเคมีในแปลงเกษตร ลดระยะเวลาการทำเกษตรลง และลดความเสียหายจากการเหยียบย่ำแปลงนาได้อีกด้วย 

ผลลัพธ์และผลสำเร็จ ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแปลงข้าว สศก. พบว่า ด้านค่าใช้จ่ายการผลิต ภายหลังการดำเนินกิจกรรมโครงการ เกษตรกรแปลงต้นแบบมีค่าใช้จ่าย 4,357 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต ขณะที่แปลงทั่วไปมีค่าใช้จ่าย 4,604 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต (ลงเฉลี่ย 247 บาท) ด้านปริมาณผลผลิต เกษตรกรแปลงต้นแบบ       มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 924 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ขณะที่แปลงทั่วไปมีผลผลิต 868 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต (เพิ่มขึ้น 56 กิโลกรัม)

ภาพรวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี สามารถช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งในระยะถัดไป ควรขยายผลไปยังแปลงอื่น โดยการบูรณาการโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ  ร่วมกับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 โครงการจะยังคงดำเนินงานต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้าศึกษาดูงานการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรต่อไป