กปม. จัดประชุม 8 GLM ระดมนักวิจัยมือท็อปไทย-ญี่ปุ่น

286

กรมประมงจัดประชุม 8 GLM ระดมนักวิจัยมือท็อปไทย-ญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปลอดโรค คุณประโยชน์สูง พร้อมโชว์ฟอร์มเจ้าบ้าน…ปลุกไฟนักชิมด้วยการจัดเชฟรังสรรค์เมนูจาก“ปลากะพงไทย”

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมวิภาวดี Ballroom C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ Group Leaders Meeting of Thai Fish Project ครั้งที่ 8 โดยมี นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นผู้แทนกรมประมง ในฐานะเจ้าภาพเปิดการประชุมฯ และ Mr. Kazuya Suzuki ผู้แทนสำนักงาน JICA ประเทศไทย ศาสตราจารย์ Ikuo Hirono หัวหน้าโครงการฯ จากมหาวิทยาลัย Tokyo University of Marine Science and Technology (TUMSAT) และคณะนักวิจัยของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานวิจัยภายใต้โครงการการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นของประเทศไทยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นสู่ตลาดโลก (Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market) จำนวน 200 คน  เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการยกระดับการเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ของพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย นอกจากนี้ ได้ร่วมชิมปลากะพงขาวผ่านการรังสรรค์ของเชฟจากร้านอาหารญี่ปุ่น kensaku ในงาน “Seabass Tasting Event Seabass Tasting  Event  by Thai Fish Project”

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นของประเทศไทยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นสู่ตลาดโลก (Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนรูปแบบความร่วมมือด้านงานวิจัย ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (JST) ภายใต้โครงการ SATREPS (ความร่วมมือด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)  มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 – 2568 โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยกระดับการเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ของพันธุ์พื้นเมืองของไทย ได้แก่ ปลากะพงขาว (Asian seabass) และกุ้งแชบ๊วย (Banana shrimp) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพทางพันธุกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมการพัฒนาเทคนิคการป้องกันโรคสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมชิมปลากะพงขาว “Seabass Tasting  Event  by Thai Fish Project”  ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากโครงการ Thai Fish Project เรื่อง การใช้สาหร่ายทะเลขนาดเล็ก Schizochytrium sp. เป็นอาหารเสริมในปลากะพงขาว  โดยไฮไลต์พิเศษของกิจกรรมนี้คือ ผู้ร่วมงานทั้งจากฝั่งไทยและญี่ปุ่นจะได้ร่วมชิมรสชาติความสดของเมนู “ปลากะพง” ที่ผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงจากโครงการวิจัยฯ ที่มีจุดเด่นจะทำให้ปลากะพงมีค่า DHA ที่สูงขึ้น  ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ กรมประมงจะนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อผลิตปลากะพงขาว ให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพพร้อมป้อนเข้าสู่มาตรฐานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

กรมประมง ข่าว