ภาคตะวันตก นำร่อง จ. ราชบุรี ดึงเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics : GI) สำรวจเนื้อที่เพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอม
นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “มะพร้าวน้ำหอม” นับเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความสำคัญโดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันตก ซึ่งจังหวัดราชบุรี ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นสินค้าที่ได้รับเลือก ให้นำร่องในโครงการโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ สศท.10 ได้ให้ความสำคัญด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ใช้ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านการผลิตที่ถูกต้องและรวดเร็ว จึงได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) หรือ GI โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์เนื้อที่ยืนต้นมะพร้าวน้ำหอม ปี 2566 ซึ่งจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดแรกของภาคตะวันตกที่มีการนำร่องจัดทำข้อมูลเนื้อที่ยืนต้นมะพร้าวน้ำหอมครอบคลุมพื้นที่จังหวัดราชบุรี ภายใต้โครงการ Agri-map เพื่อจัดทำรายงานข้อมูลสารสนเทศสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพระดับจังหวัด และเป็นฐานข้อมูลสำหรับการพยากรณ์ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม ปี 2567 เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวน้ำหอมในระดับพื้นที่ต่อไป
จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ โดยดำเนินการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อที่ยืนต้น และตรวจสอบความถูกต้องของผลการแปล เพื่อให้ได้ข้อมูลผลการแปลวิเคราะห์ที่มีความถูกต้องมากที่สุด โดยจำแนกเนื้อที่ยืนต้นมะพร้าวน้ำหอม ปี 2566 ของจังหวัดราชบุรี พบว่า มีเนื้อที่ปลูกรวม 110,490 ไร่ ปลูกมากที่สุดในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดำเนินสะดวก 48,275 ไร่ อำเภอเมืองราชบุรี 26,806 ไร่ และอำเภอบางแพ 12,251 ไร่ ซึ่งเมื่อนำแผนที่ความเหมาะสมในการปลูกมะพร้าว ปี 2566 จังหวัดราชบุรี มาซ้อนทับผลการแปลเนื้อที่ยืนต้นมะพร้าวน้ำหอม ปี 2566 จังหวัดราชบุรี พบว่า จังหวัดราชบุรีปลูกอยู่ในพื้นที่มีความเหมาะสมมาก (S1) 65,715.98 ไร่ พื้นที่ความเหมาะสมปานกลาง (S2) 4.41 ไร่ พื้นที่ความเหมาะสมน้อย (S3) 2,391.19 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) 42,303.61
ด้านสถานการณ์การผลิตมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดราชบุรี ปี 2565 (ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี) พบว่า มีเนื้อที่ให้ผล 65,886 ไร่ ผลผลิตรวม 526,586,095 ผล/ปี ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 7,992 ผล/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ 11 ธันวาคม 2566 เฉลี่ย 9.67 บาท/ผล คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,092 ล้านบาท/ปี ด้านสถานการณ์ตลาด โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดร้อยละ 98 จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางภายในจังหวัด และขายให้ล้งในพื้นที่ ซึ่งล้งจะส่งต่อให้โรงงานที่ตั้งอยู่ภายในอำเภอดำเนินสะดวกนำไปแปรรูปเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 2 จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางภายนอกจังหวัด ซึ่งพ่อค้าจะมารับซื้อและตัดที่สวนเกษตรกรเอง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 สศท. 10 จะได้ดำเนินการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจและจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้ามะพร้าวน้ำหอมของภาคตะวันตก ทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้โครงการบริหารจัดการผลผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) กิจกรรมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในระดับจังหวัด โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ผ่านคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ภาคตะวันตก สำหรับใช้ประกอบการวางแผน กำหนดแนวทางการจัดการด้านการผลิต ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ จัดทำมาตรการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องตามศักยภาพของพื้นที่ตามนโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ ให้แก่เกษตรกร และภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 อีเมล [email protected]
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว