รมว. เกษตรฯ เปิดงาน ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร

205

รมว. ธรรมนัส เปิดงาน ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมปาฐกถา “ก้าวใหม่เกษตรไทย สู่รายได้ที่มั่นคง” สศก. แถลง GDP เกษตร ปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 0.3 คาดปี 67 ขยายตัวร้อยละ 0.7 – 1.7

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี แถลงตัวเลข GDP ภาคเกษตรไทย ปี 2566                และแนวโน้มปี 2567 ในคอนเซ็ป “Grow Strong Beyond the Future : เสริมแกร่งเกษตรไทย สู่ก้าวใหม่ที่มั่นคง” โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ก้าวใหม่เกษตรไทย สู่รายได้ที่มั่นคง” ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาโดยสรุปว่า ภาคเกษตรเป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ปัจจุบันเนื้อที่ทางการเกษตรอยู่ที่ 149.75 ล้านไร่
คิดเป็นร้อยละ 46.7 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีจำนวนครัวเรือนเกษตร 7.8 ล้านครัวเรือน และแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร
สูงถึงร้อยละ 51 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ ในวิกฤตต่าง ๆ ภาคเกษตรยังช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น และในช่วงปี 2565-2566 หลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก แต่ประเทศไทยยังคงสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือว่าภาคเกษตรเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

ที่ผ่านมา การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาและแก้ไขปัญหาในหลายด้าน โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคเกษตร สู่รายได้ที่มั่นคง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยจะเร่งขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ดี มีอาชีพที่มั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และภาคเกษตรไทย คือ ผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า งานสัมมนาในวันนี้ นอกจากมีการนำเสนอภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 แล้ว ยังมีการจัดแสดงผลงานนิทรรศการ อาทิ  Big Data Driven ระบบปฏิทินสินค้าเกษตร การประกันภัยภาคเกษตร ซึ่งร่วมกับ NECTEC และ GISTDA  และ Application ‘บอกต่อ’ รวมทั้งมีการเสวนา “เสริมแกร่งเกษตรไทย สู่ก้าวใหม่ที่มั่นคง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายนิรันดร์  สมพงษ์  ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย Co-founder บริษัท ฟาร์มโตะ ไทยแลนด์ จำกัด ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และดำเนินการเสวนาโดย นางอภิสรา  เกิดชูชื่น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว ขณะที่สาขาพืชหดตัว และเมื่อจำแนกแต่ละสาขา
จะเห็นได้ว่า สาขาพืช ปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีช่วงอากาศร้อนยาวนานตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 และภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และเงาะ สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน และมังคุด

สาขาปศุสัตว์ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการควบคุมเฝ้าระวังโรคระบาดได้ดี โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ ขณะที่สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ

สาขาประมงในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกร            มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี แม้ว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และบางพื้นที่ยังพบโรคระบาดกุ้ง แต่เกษตรกรสามารถควบคุมโรคได้ดี ทำให้ในภาพรวมไม่กระทบต่อการเลี้ยงมากนัก ขณะที่สัตว์น้ำที่นำขึ้น ท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลยังอยู่ในระดับสูง และสภาพอากาศมีความแปรปรวน สำหรับปลานิลและปลาดุกมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาด้านต้นทุนอาหารสัตว์และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง

สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สภาพอากาศทั่วไปเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี บางพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง เกษตรกรบางส่วนงด เลื่อน หรือปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเพาะปลูก ทำให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปี และมันสำปะหลัง

สาขาป่าไม้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการตัดโค่นสวนยางพาราเก่ามากขึ้น ประกอบกับความต้องการไม้ยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีนเพิ่มขึ้น ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับรังนกมีการส่งออกไปตลาดจีนลดลง และครั่งมีผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว โดย สาขาพืช ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.6 – 1.6  สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.7 – 2.7 สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.3 – 1.3  และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.4 – 3.4 ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคตต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสหลายด้าน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการ อาทิ บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย ส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อนำไปสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว