ศกอ. จ.ร้อยเอ็ด ทำเกษตรผสมผสาน ประสบผลสำเร็จ

237

เศรษฐกิจการเกษตรอาสา จ.ร้อยเอ็ด ทำเกษตรผสมผสาน ประสบผลสำเร็จ แนะทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง

ดร.นพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การทำเกษตรผสมผสานเป็นระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร ก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบฟาร์ม ซึ่งระบบเกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมีการวางรูปแบบและดำเนินการโดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรม แต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพเศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.นพดล ศรีพันธุ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น

จากตัวอย่างของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดร้อยเอ็ด คือ นายวิชัย ทวินันท์ ประธานศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เมืองสรวง ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง และเป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชน ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการเกษตรดีเด่นประจำปี 2560 ของมูลนิธิดร.สมนึก ศรีปลั่ง นับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นในการทำเกษตรผสมผสานจนประสบผลสำเร็จ ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand และพัฒนาสถานที่พักอาศัยเป็นศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรมาจนปัจจุบัน ซึ่ง สศท.4 ได้ลงพื้นที่และสัมภาษณ์นายวิชัย บอกเล่าว่า ตนได้เริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีการปลูกพืชแบบผสมผสานบนพื้นที่ 7 ไร่ โดยแบ่งเป็น นาข้าวอินทรีย์ จำนวน 2 ไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น จำนวน 2 ไร่ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ต้นประดู่ ต้นพะยูง และต้นยางนา ปศุสัตว์ จำนวน 1 ไร่ ได้แก่ หมูป่า เป็ดไข่ ไก่ไข่ และไก่เนื้อ และสระน้ำ จำนวน 2 ไร่ เพาะเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาไน

สำหรับกิจกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจและสร้างรายได้ให้แก่นายวิชัย คือ การทำนาข้าวอินทรีย์ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) หรือ เรียกว่าการทำนาแบบใช้น้ำน้อย ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ซึ่งในช่วงแรกที่ปักดำจะทำการขังน้ำไว้ในนาข้าวก่อนเพื่อคลุมไม่ให้มีหญ้าในนาข้าวและให้ต้นข้าวฟื้นตัวหลังจากนั้นจะปล่อยให้น้ำแห้ง แล้วจึงให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ในกรณีที่ฝนทิ้งช่วงทำไปจนถึงช่วงที่ข้าวออกรวง ช่วยกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ ทำให้สามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ลดการใช้ปุ๋ย ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรคแมลง และสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 30 – 45 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป รวมทั้งให้ผลผลิตที่สูงกว่า โดยในปีเพาะปลูก 2566/67 พบว่า นายวิชัยมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 6,293.62 บาท/ไร่/ปี สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,100 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขายข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 อินทรีย์ ณ ไร่นา ความชื้น 15 % (ราคา ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) อยู่ที่ 25,000 บาท/ตันได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 27,500 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 21,206.38 บาท/ไร่/ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการทำนาโดยทั่วไปจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4,105.22 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 325 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,625.73 บาท/ไร่/ปี ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 520.51 บาท/ไร่/ปี ดังนั้น แม้ต้นทุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะสูงกว่าการทำนาโดยทั่วไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผลผลิตที่สูง แต่กลับให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าการทำนาแบบทั่วไปถึงร้อยละ 238.46 เนื่องจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานโรค ง ต้านทานบ17 ้ไม่คุ้มกับการลงทุน ที่ข้าวออกรวงง แล้วจึงให้น้ำด้วยและดูดซึมปุ๋ยได้ดี รวมถึงมีการบำรุงดินและการดูแลรักษาที่ดีทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ นายวิชัยยังจำหน่ายข้าวเปลือกสำหรับทำเมล็ดพันธุ์ ในราคา 25 บาท/กิโลกรัม ให้เกษตรกรในหมู่บ้านใกล้เคียงและเกษตรกรต่างอำเภอที่สนใจ

ทั้งนี้ นอกจากการประสบผลสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์โดยใช้วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแล้ว ปัจจุบัน ศพก. เมืองสรวง ยังเป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้และศึกษาดูงานในเรื่องของการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรปลอดสารพิษการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง และการเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ให้ความสนใจเข้าศึกษาดูงานประมาณ 300 – 500 คน/ปี หากท่านใดสนใจข้อมูลหรือมีความประสงค์เข้าศึกษาดูงานการปลูกข้าวและการเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษ สามารถติดต่อได้ที่นายวิชัย ทวินันท์ สถานที่ ศพก. เมืองสรวง ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด โทร 06 3194 1494 ยินดีให้คำปรึกษาและต้อนรับทุกท่าน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว