เกษตรฯ เสวนา“เกษตรไม่เผา เธอรัก(ภู)เขา ดาวก็รักเธอ”

729

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเสวนา “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ”

ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร นับเป็นปัญหาสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ประกอบกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2566/67 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) มาตรการระยะสั้น ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม 17 จังหวัดภาคเหนือลดลง ร้อยละ 50 และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10 และมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังจุดที่มีการเผาเดิม ตรวจสอบพื้นที่ที่พบจุดความร้อน (Hot Spot)  สร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในสังกัด นอกจากนี้จะให้บริการเครื่องจักรกลช่วยจัดการแปลงหลังการเก็บเกี่ยว สนับสนุนจุลินทรีย์และชีวภัณฑ์ 2) มาตรการระยะกลาง ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพืชปลูกจากพืชล้มลุกที่ต้องทำการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง จัดตั้งศูนย์บริหารเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (Motor Pool) เพื่อลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ 3)  มาตรการระยะยาว ส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมพร้อมกับกิจกรรมการผลิตที่ปลอดการเผา มุ่งสู่มาตรฐาน GAP PM2.5 FREE ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการ เตรียมแปลงจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเน้นการบริหารจัดการเศษวัสดุ ซึ่งจะมีมาตรการจูงใจ ทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่าย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การคืนหรือลดหย่อนภาษีให้แก่เอกชนที่รับซื้อ โดยคาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบ และตรงจุดมากขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดจัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้ในด้านต่างๆ จากภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคเกษตรกร มาร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอมุมมองในการแก้ไขปัญหา

เริ่มต้นจากมุมมองของภาคประชาชน นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ มองว่า ปัญหา PM2.5 มาจากการเผาในพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงควรมีการแก้ไขปัญหาในเชิงรุก โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้โดยไม่ต้องเผาและมีรายได้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะภาคเหนือต้องมีการทำโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ควรส่งเสริมให้ทำวนเกษตร เกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับการสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ

ด้าน อาจารย์ เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ระบุว่าการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ต้องทำร่วมกันทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง การเผายังเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ ควรมีองค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะถ่ายทอดให้เกษตรกรเพื่อทดแทนการเผาโดยการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรมาปลูกพืชในระบบวนเกษตร ระบบสวนป่า การปลูกต้นไม้เป็นป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความนิยม รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ควรบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการวางแผนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรบนพื้นที่สูงเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรประณีต เพื่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรต่อไป

ส่วนมุมมองของภาคเกษตรกร นายชุมพล กาวิน่าน ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและแปลงใหญ่ลำไย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าพื้นที่การเกษตรของอำเภอแม่แจ่ม ใช้เวลา 10 ปี ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพด5,000 ไร่ เหลือเพียง 15% โดยเปลี่ยนเป็นการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกผัก และการบริหารจัดการเศษวัสดุในพื้นที่ อาทิ นำเศษวัสดุจากข้าวโพดมาเลี้ยงวัว ทำปุ๋ยหมักจนหมด และยังต้องนำเข้ามาจากต่างพื้นที่อีกกว่า 200 ตันจึงจะเพียงพอ ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาหมอกควันได้บางส่วน

สำหรับมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ วิทยากรท่านแรก คือ  ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้วิทยาศาสตร์แก้ไขไม่ใช่ความเชื่อเนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงมาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย นั่นคือการสลายตัวของสารอินทรีย์ระเหยง่ายซึ่งมีที่มาต่างกัน เช่นที่พืชปล่อยออกมา ทำปฏิกิริยากับสารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ และแสงแดด จนกลายเป็นฝุ่น บวกเข้ากับก๊าซโอโซนซึ่งเป็นก๊าซอันตรายเป็นพิษ นอกจากนี้ต้นเหตุอีกแหล่งหนึ่งที่มีจำนวนมหาศาลก็คือ สารประกอบแอมโมเนีย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ต่างๆ การเผาเป็นต้นเหตุเพียงส่วนน้อยของปัญหา PM2.5 เท่านั้น

         ด้านศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ยังคงย้ำว่าปัญหาควรแก้ด้วยวิทยาศาสตร์ โดยได้ระบุว่า ประเทศไทยควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยการกำหนดค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็ง และค่ามาตรฐานโลหะหนัก ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคร้าย เหมือนในหลายๆ ประเทศ เนื่องจาก PM2.5 อาจไม่ใช่สารก่อมะเร็งเพียงอย่างเดียว รัฐบาลต้องมีการจัดสรรงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวัง (monitoring) การกำหนดค่ามาตรฐานควรจะต้องมีการกำหนดในชั้นบรรยากาศ และเมื่อเกิดแล้วนำไปสู่อะไร ระดับความเสี่ยงอยู่ที่เท่าไหร่ และเมื่อทราบความเสี่ยงแล้วก็จะแก้ไขปัญหาจากแหล่งกำเนิดได้

ท้ายสุด คือ มุมมองด้านการเกษตร นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงเดินหน้าในส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการในระดับฟาร์มให้มีการจัดการต้นทุน Cost Management และจัดรูปพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมกับใช้เครื่องจักรกล หรือ Ecosystem ทั้งหมด เพื่อให้การลงทุนนั้นเกิดกำไร รวมทั้งเรื่องการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารเคมีทางการเกษตรที่มาจากพืชให้มากยิ่งขึ้นรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เกิดขึ้น เรียกว่า New Supply Chain for Sustainable Ecosystem ซึ่งเป็นเทรนด์ของอาหารโลกที่การเกษตรไทยต้องก้าวตามให้ทันและไปให้ถึงซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง Ecosystem ใหม่ โดยภายในสองปีหลังจากที่กฎหมายออกประกาศใช้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินการหลายเรื่อง โดยเฉพาะจัดทำระบบกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้มาตรการเขตเกษตรเศรษฐกิจ จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงทั้งหมด จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบไม่เผาสำหรับการเพาะปลูกข้าว พัฒนาและดำเนินการระบบรับรองสินค้าหรือผลิตผลการเกษตรแบบไม่เผา ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานบังคับ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับระบบมาตรฐาน รวมถึงมาตรการสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับพี่น้องเกษตรกรทำตาม

จะได้เห็นได้ว่า การเผาวัสดุเหลือใช้การเกษตรเป็นต้นตอเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งยังมีแหล่งกำหนดฝุ่นละออง PM2.5 อื่นๆ อีก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องตระหนักรู้ว่าการก่อมลพิษมีต้นทุนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ และต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ตามบทบาทภาระหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยมีความยั่งยืนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว