กสก. เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

257

กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย 10 จังหวัดภาคใต้

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2566) ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ระนอง ตรัง ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้วทั้ง 10 จังหวัด

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยประชาชน ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในจังหวัดที่ประสบภัยจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อเยี่ยมเยียน ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกรที่ประสบภัย และเร่งสำรวจพื้นที่ประสบภัยภายหลังน้ำลด และบันทึกข้อมูลลงในระบบข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืชแล้ว จำนวน 7 จังหวัด ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 2,230 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย จำนวน 11,244.50 ไร่ แยกเป็น ข้าว จำนวน 7,219.25 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 2,908.75 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 1,116.50 ไร่ คาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือ จำนวน 19,709,956.50 บาท  ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้จัดเตรียมชีวภัณฑ์ (ไตรโคเดอร์มา) ไว้ให้เกษตรกรใช้ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลด รวมทั้งสิ้น 34,000 กิโลกรัม สามารถใช้ควบคุมโรคพืชในนาและสวนผลไม้ได้ 34,000 ไร่ โดยใช้ในอัตราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1ไร่ นอกจากนี้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักภายใต้โครงการเมล็ดพันธุ์พืชผักปันรักสู่เกษตรกร จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียวพิจิตร 1 ถั่วฝักยาวไร้ค้างสุรนารี 1 พริกเดือยไก่ ถั่วพูสีม่วง ถั่วพูพื้นบ้าน ผักบุ้ง กวางตุ้ง และคะน้า เป้าหมายทั้งสิ้น 60,000 ซอง โดยสำรองเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติและให้บริการผ่านจุดบริการพืชพันธุ์ดี จำนวน 24,000 ซอง ทั้งนี้ได้ให้บริการเมล็ดพันธุ์ไปแล้วกว่า 3,510 ซอง และพร้อมสำหรับให้การสนับสนุนเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที จำนวน 4,000 ซอง สำหรับเมล็ดพันธุ์ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างกระบวนการผลิตและเร่งบรรจุเมล็ดพันธุ์เพื่อให้การช่วยเหลือในระยะต่อไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือกรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย  เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563  และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดตามสถานการณ์ประกาศแจ้งเตือนต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานของอำเภอ/จังหวัด รวมถึงข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์การเกิดอุทกภัย พื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงขั้นตอนการรับความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว