สศท.6 พยากรณ์รอบแรก ไม้ผลภาคตะวันออก ปี 67

281

สศท.6 เผยผลพยากรณ์รอบแรก ไม้ผลภาคตะวันออก ปี 67 ผลผลิตรวม 4 ชนิด 1.19 ล้านตัน ปีนี้อากาศแปรปรวน ผลผลิตออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ปี 2567 (ข้อมูล ณ 7 ธันวาคม 2566) โดย สศท.6 และศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ได้ติดตามสถานการณ์การออกดอกติดผลของไม้ผลภาคตะวันออกของ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด คาดว่า มีปริมาณผลผลิตรวม 1,199,900 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน (เพิ่มขึ้น 153,646 ตัน หรือร้อยละ 15) เนื่องจากในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของไม้ผล จึงได้พักต้นสะสมอาหาร ทำให้ปีนี้ออกดอกติดผลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567 แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้การออกดอกติดผลของไม้ผลในปีนี้ล่าช้าและออกดอกติดผลไม่เต็มพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตปีนี้จะมีหลายรุ่น

นางธีรารัตน์ สมพงษ์
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี

สำหรับเนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 949,457 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 910,872 ไร่ (เพิ่มขึ้น 38,585 ไร่ หรือร้อยละ 4) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ลองกอง ลดลงร้อยละ 7 เงาะ ลดลงร้อยละ 4 และมังคุด ลดลงร้อยละ 3 เนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 682,211 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 656,626 ไร่ (เพิ่มขึ้น 25,585 ไร่ หรือร้อยละ 4) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในขณะที่ลองกอง ลดลงร้อยละ 7 มังคุด ลดลงร้อยละ 4 และเงาะ ลดลงร้อยละ 2 เนื่องจากต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมาเริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้น เกษตรกรโค่น สาง ต้นลองกอง มังคุด เงาะ ที่เคยให้ผลผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทนและเพื่อให้สวนผสมมีช่องว่างระหว่างแถวให้ต้นทุเรียนได้รับการสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น

ผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดว่า ทุเรียนและมังคุด เพิ่มขึ้น โดยมังคุดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34 เนื่องจากได้พักต้น
จากติดผลลดลงในปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นมังคุดได้สะสมอาหาร ปีนี้พร้อมออกดอกได้มากขึ้น สำหรับทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากเนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด ในขณะที่ เงาะ ลดลง ร้อยละ 1 และลองกอง ลดลง ร้อยละ 0.17 จากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทน ด้านผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ คาดว่า เพิ่มขึ้นเนื่องจากปีที่ผ่านมาออกดอกติดผลน้อย ได้พักต้นสะสมอาหาร ปีนี้ต้นสมบูรณ์มากขึ้น จึงออกดอกติดผลได้มากขึ้น และอายุต้นอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจ เกษตรกรจึงดูแลรักษา เอาใจใส่อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น

ด้านสถานการณ์การผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ขณะนี้ทุเรียนออกดอกแล้วร้อยละ 40 ทยอยออกดอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาการยังอยู่ในระยะไข่ปลา/ตาปูและระยะเหยียดตีนหนู ส่วนใหญ่อยู่ในระยะมะเขือพวง บางส่วนดอกเริ่มบานบ้างแล้ว จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้การออกดอกติดผลของทุเรียนในปีนี้ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา การออกดอกติดผลไม่เต็มพื้นที่และผลผลิตทุเรียนจะมีหลายรุ่น มังคุด ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเตรียมใบ ใบเพสลาด บางส่วนเริ่มทยอยเป็นระยะปากนกแก้ว เตรียมพร้อมออกดอกได้มากขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อการออกดอกของมังคุดในระยะปากนกแก้วสู่การเป็นดอกที่อาจเป็นใบอ่อนแทน เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเตรียมต้น เตรียมใบสะสมอาหาร บางส่วนเริ่มตั้งช่อดอกบ้างแล้ว และ ลองกอง คาดการณ์การออกดอกยังไม่ชัดเจน ในปีนี้ลองกองออกดอกค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากยังมีฝนตกในช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2566 ลองกองใบยังเขียว ใบไม่สลด ยังไม่พร้อมออกดอก เกษตรกรจะปลูกลองกองแซมพืชอื่น การปลูกแบบสวนเดี่ยวมีเหลือน้อย การดูแลรักษาเพื่อกระตุ้นการออกดอกทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากลองกองจะออกดอกได้ดีเมื่อต้นมีสภาพที่ใบสลดขาดน้ำ การปลูกแซมกับพืชอื่นที่จะต้องให้น้ำ ทำให้ต้นลองกองได้รับน้ำตลอด

            อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผล3 จังหวัดภาคตะวันออก ปี 2567 รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว คาดว่าในช่วงเดือนมกราคม 2567 จะเห็นความชัดเจนของพัฒนาการออกดอกติดผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้มากขึ้น โดย สศท.6 จะติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 และมีกำหนดลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรายงานผลต่อคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ และคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้วางแผนบริหารจัดการผลไม้ตลอดฤดูกาล สำหรับ
ท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 ชลบุรี โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว