กรมชลฯ เฝ้าระวังฝนใต้ต่อเนื่อง กำชับเหนือ-อีสาน-กลาง จัดสรรน้ำตามแผน
กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (27 ธ.ค. 66) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 59,398 ล้าน ลบ.ม. (78% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,519 ล้าน ลบ.ม. (70% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้า ตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 6,254 ล้าน ลบ.ม. (29%) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,726 ล้าน ลบ.ม. (29%) ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.67 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 88 ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่กำลังมีสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสมในบางแห่ง ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมนำเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรอื่น ๆ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมชลประทาน ข่าว