เฝ้าระวังกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS)

1,275

เร่งเก็บตัวอย่างเลือดม้าลายเพื่อเฝ้าระวังโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ในม้าลาย

คณะอนุกรรมการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ในม้าลาย นำโดย รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปภัมภ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์สัตว์ป่า จาก สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และสวนสัตว์นครราชสีมา

ได้เข้าร่วมดำเนินการวางยาสลบม้าลายเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดสำหรับการสำรวจ เฝ้าระวัง โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ในการดำเนินการในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สวนสัตว์นครราชสีมา Bonanza Exotic Park จ.นครราชสีมา และ Safari Wildlife Park จ.ปราจีนบุรี และจะดำเนินการต่อเนื่องไปทุกสัปดาห์ ในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่การระบาดของโรค สำหรับตัวอย่างเลือดม้าลายจะนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการนำไปวิเคราะห์ด้านระบาดวิทยาและการเฝ้าระวังโรค ทำให้ทราบสถานการณ์การระบาดของโรคซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย นำไปสู่การขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ให้เร็วที่สุดต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า การควบคุม ป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ว่าเนื่องจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ควบคุมและป้องกันโรคAHS ในม้าให้สงบอย่างรวดเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะมีความห่วงใยต่อผู้เลี้ยงม้าและอาชีพที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ และปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีร่วมกับสัตวแพทย์สถานเสาวภา ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าแห่งแรกของประเทศไทยที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 560 ตัว เนื่องจากเป็นสถานที่ทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ตลอดจนการดูแลม้าภายหลังการฉีดวัคซีนเป็นไปตามมาตรการหลักเกณฑ์การใช้วัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าของกรมปศุสัตว์

แต่ที่สำคัญคือสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงม้าที่ใช้ในการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 140,000 ขวด (ขวดละ 5 มล.)/ปี และเซรุ่มแก้พิษงูเพื่อรักษาผู้ที่ถูกงูกัด ทั้งสำหรับงูพิษเดี่ยว (Mono valent) และรวมพิษงูระบบโลหิต (Polyvalent) 100,000 ขวด (1 ขวดละลายได้ 10 มล.)/ปี

พร้อมทั้งจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ม้าในรัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค ใน 7 จังหวัดที่พบการระบาดของโรค นอกจากนี้เนื่องจากปัจจุบันหลายพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อน อีกทั้งใกล้เข้าสู่ฤดูฝน ภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้แมลงที่เป็นพาหะของโรคเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงที่จะเกิดโรค ดังนั้น ขอให้ผู้เลี้ยงม้าป้องกันแมลงดูดเลือดมากัดม้า อีกทั้งกำจัดแมลงและแหล่งเพาะพันธุ์แมลง หมั่นดูแลสุขภาพม้า หากพบมีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้ ตาแดง ขอบตาและขมับบวม ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือ application DLD 4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือและควบคุมโรคอย่างทันท่วงที

กรมปศุสัตว์ ข่าว