ศกอ. กำแพงเพชร ต้นแบบทำเกษตรผสมผสาน

235

ศกอ. กำแพงเพชร ต้นแบบทำเกษตรผสมผสาน สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี นายสมาน ลุนพงษ์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธาน ศพก. ซึ่งประสบความสำเร็จและมีจุดเด่นในการทำเกษตรผสมผสาน สามารถต่อยอดไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ และเอกชน

            จากการติดตามของ สศท.12 โดยสัมภาษณ์นายสมาน บอกเล่าว่า เดิมนั้นตนทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ได้ขนาดและปริมาณตามต้องการ จึงใช้สารเคมีบำรุง ทำให้สภาพดินเสื่อม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และรายได้ลดลง จึงได้ศึกษาและเข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2556 และเกษตรแบบผสมผสาน ปี 2559 รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการทำเกษตร บนพื้นที่จำนวน 37 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าวอินทรีย์ จำนวน 25 ไร่  โคกหนองนา จำนวน 3 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น จำนวน 3 ไร่ อาทิ ต้นยางนา ต้นพะยุง ต้นประดู่ และต้นสัก สระน้ำ ขนาด 2 งาน จำนวน 4 บ่อ เพาะเลี้ยงปลานิล, ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาบึก และปลาตามธรรมชาติ คลองรอบแปลงนา ขนาดกว้าง 3 เมตร ลึก 2 เมตร ยกคูล้อมรอบความยาวประมาณ 650 เมตร และส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จหลัก ๆ คือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ โดยนายสมาน เพาะปลูกข้าวอินทรีย์หลายชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวเหนียวดำ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand  ซึ่งนายสมานสามารถผลิตข้าวอินทรีย์เฉลี่ย 500 – 600 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 12 – 15 ตัน/ปี สำหรับการแปรรูปจะพิถีพิถันตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ โดยมีการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมเหมาะกับพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี การสีข้าวและการบรรจุ ซึ่งข้าวเปลือกที่จะนำมาสี ต้องผ่านการลดความชื้นก่อน โดยใช้เครื่องอบลดความชื้น และบางส่วนก็ตากเอง โดยต้องมีความชื้น 13 – 15% ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว เมื่อผ่านกระบวนการสีแกลบจากข้าวเปลือก จะได้ข้าวกล้องที่ยังมีจมูกข้าวและสีต่ออีกครั้งเพื่อให้เป็นข้าวสาร โดยบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม และการจัดเก็บ มีการจัดเก็บข้าวเปลือกในโกดังเก็บสินค้าของตนเอง เพื่อป้องกันความชื้นจากภายนอก และป้องกันสิ่งแปลกปลอม เช่น แมลง สัตว์ภาหะ นก หนู เป็นต้น เนื่องจากจะมีการแปรรูปตามออเดอร์สั่งซื้อเท่านั้น ซึ่งเป็นการเก็บรักษาข้าวเปลือกให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม  

            ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ ร้อยละ 50 ส่งจำหน่ายที่ปั้มน้ำมัน ปตท.โค้งวิไลไทยเสรี ในราคาขายส่ง 70 บาท/กิโลกรัม ราคาขายปลีก 100 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตร้อยละ 40 ได้จำหน่ายในชุมชน ผลิตตามที่ลูกค้าสั่งซื้อ และจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ และผลผลิตร้อยละ 10 จำหน่ายทาง เพจ Facebook “ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวอินทรีย์ ตราทุ่งทอง” และ Shopee ทั้งนี้ จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์สามารถสร้างรายได้ให้นายสมาน ประมาณ 30,000 บาท/เดือน หรือ 360,000 บาท/ปี

            นอกจากนี้ นายสมานยังมีแนวทางการการดำเนินงานที่ปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้สารชีวภัณฑ์ หยุดการเผาตอซังข้าว ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับข้าวเพื่อพักดินและลดการใช้น้ำ โดยสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึงร้อยละ 50 ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเข้าใจง่าย สามารถเป็นตัวอย่างและเข้าถึงเกษตรกรและผู้ที่สนใจ จึงได้รับเลือกจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร การทำน้ำหมักและการทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร การทำบัญชีครัวเรือนและการทำบัญชีต้นทุนการผลิต โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กำแพงเพชร ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลหรือมีความประสงค์เข้าศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ นายสนาม ลุนพงษ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร  โทร 08 7306 2279

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว