เกษตรเขต 5 สงขลา แจ้งแนวทางและหลักการประเมินและวินิจฉัยต้นพืช เพื่อฟื้นฟูหลังประสบภัย
นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 24 – 27 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ 33 อำเภอ 237 ตำบล 1,329 หมู่บ้าน และเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้จัดอบรมและให้ความรู้ในเรื่องหลักการประเมินและวินิจฉัยต้นพืช เพื่อฟื้นฟูหลังประสบภัย แก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัดและอำเภอที่ประสบภัย นำไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง โดยได้รับเกียรติจากนายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช ให้เกียรติเป็นวิทยากร
นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในการเกิดอุทกภัยใหญ่แต่ละครั้ง จะส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากทั้งนาข้าว พืชไร่และพืชสวน โดยเฉพาะในส่วนของไม้ผล/ไม้ยืนต้นถ้าถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นตายได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผล/ไม้ยืนต้นด้วย เช่น ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จะทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานกว่ามะละกอ กล้วย ทุเรียน มะม่วง ส้ม มะนาวอย่างไรก็ตาม ถ้าระยะเวลาการท่วมขังไม่นาน ระดับน้ำที่ท่วมขังไม่สูงถึงระดับใบพืช และน้ำที่ท่วมขังมีการไหลไม่อยู่นิ่งและรากพืชไม่เน่า ต้นไม้จะมีชีวิตรอดได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างถูกวิธีหลังน้ำลด
ไม้ผล/ไม้ยืนต้น เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขังจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ดังนี้ ระบบรากขาดออกซิเจน ทำให้รากไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ไปเลี้ยงลำต้นที่อยู่เหนือดิน อาการใบเหลือง จะพบในวันต่อมา ซึ่งมักเกิดกับใบแก่ที่อยู่ทางส่วนโคนของกิ่ง ส่วนอาการซีดเหลืองมักพบในต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังต่อเนื่อง โดยอาจแสดงอาการทั่วทั้งต้น และอาจพบอาการใบลู่หรือห้อยลงด้วย อาการทิ้งใบดอกและผล เมื่อพืชอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขังจะเกิดความเครียด ทำให้พืชสร้างเอทิลีนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ต้นพืชทิ้งดอกและผล โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและรุนแรงจนหมดหรือเกือบหมดต้น และอาการตอบสนองอื่น ๆ ทางสรีรวิทยาของพืช เช่นการปิดของปากใบเพื่อลดการคายน้ำ ส่งผลให้การสร้างอาหารและส่งเลี้ยงรากลดลงร่วมกับรากขาดออกซิเจนในดินทำให้รากพืชเน่า
ในส่วนของคำแนะนำการฟื้นฟูไม้ผล/ไม้ยืนต้น หลังประสบอุทกภัย โดยเบื้องต้นเกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาให้พืชเกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วยโดยขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่และห้ามบุคคลรวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้ และเร่งระบายน้ำออกจากแปลงและบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำ หรือใช้เครื่องช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด รวมทั้งในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะพาเอาดินหรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น หลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้วควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช
นอกจากนี้ ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ทำการปลิดผลออกบ้าง เพื่อลดการใช้อาหารในต้นพืช การพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรพ่นปุ๋ยทางใบหรือปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอสูตร 20-20-20 หรือ 21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก พ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนจนเป็นใบเพสลาด ที่สำคัญไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ภายหลังน้ำท่วมมักจะพบปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า เพราะรากต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้น เมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดินบ้าง เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น ในพืชที่มีปัญหาของโรครากเน่าและโคนเน่า หลังน้ำลดและดินแห้ง ควรมีการปรับปรุงสภาพของดิน โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ กรณีที่พบต้นที่แสดงอาการโรครากเน่าโคนเน่า ตรวจสอบแผลที่โคนต้นและตรวจดูว่ารากเน่าถอดปลอกหรือไม่ กรณีเกิดแผลที่โคนต้นให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยเมตาแลกซิล หรือฟอสเอทิล อลูมินัม หรือเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ราดบริเวณโคนต้น นายชวิศร์ กล่าวทิ้งท้าย
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว