เกษตรเขต 5 สงขลา แจ้งแนวทางการฟื้นฟูสวนผลไม้

238

เกษตรเขต 5 สงขลา แจ้งแนวทางการฟื้นฟูสวนผลไม้ ไม้ผล ไม้ยืนต้น หลังน้ำลด

จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้จัดอบรมและการถ่ายทอดความรู้เรื่อง แนวทางการฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด ตามแผนปฏิบัติงานระดับเขต เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วม 4 จังหวัดชายแดนใต้ บุคคลเป้าหมายประกอบด้วย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่4จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการให้คำแนะนำ ฟื้นฟู การดูแลรักษาพืชแก่เกษตรกร โดยเนื้อหาประกอบด้วย แนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลด ของไม้ผล พืชผัก  ปาล์มน้ำมัน พืชสมุนไพร ยางพารา ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้น มะพร้าว ข้าว รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูสภาพดิน และการบำรุงรักษาพืชหลังน้ำลด

นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในการฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตรหลังน้ำลด สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังและคำนึงเป็นพิเศษ คือ การทำอย่างไรให้พื้นที่ทำการเกษตรนั้นกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด โดยกระทบกระเทือนต่อต้นพืชให้น้อยที่สุด เกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาไม้ผลให้เกิดรากใหม่ และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว พร้อมทั้งต้องมีการจัดการและฟื้นฟูดินหลังน้ำลด โดยแนะนำให้เกษตรกรดำเนินการ ดังนี้

1. ไม่เหยียบย่ำบริเวณโคนต้นโดยเด็ดขาด ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง หรือนำเครื่องจักรกลเข้าในแปลงปลูก เพราะหน้าดินที่ถูกน้ำขัง จะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นของดิน จึงเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำและการระบายอากาศ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากพืช ทำให้ต้นพืชตายได้

2. หลังจากน้ำเริ่มลดลงใกล้แห้ง ต้องรีบดำเนินการป้องกัน และแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นหากพบต้นที่เอนใกล้ล้ม ให้ใช้ไม้ยาว ๆ ค้ำยันไว้ โดยไม่เข้าไปเหยียบย่ำโคนต้น จากนั้นต้องระบายน้ำที่แช่ขังบริเวณโคนต้นออกให้หมด ตัดหญ้า ทำความสะอาดสวน และคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง วางเรียงทางใบรอบต้น รักษาความชื้นไว้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง

3. เมื่อดินเริ่มแห้งให้เอาโคลนที่ทับถมออกจากต้น

4. ตัดแต่งต้นพืช (ทรงพุ่ม ปลิดดอกและผล) จากนั้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก) ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงดิน โดยใส่บริเวณรอบ ๆ ทรงพุ่มในปริมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับปุ๋ยหมักให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 เพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เจือจาง 1 : 500 เพื่อเร่งการเจริญของระบบรากพืช ถ้าพบว่าดินเป็นกรดให้ใช้วัสดุปูนเพื่อการเกษตร เช่น ปูนมาร์ลหรือโดโลไมท์ อัตรา 500 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดิน โดยการหว่านให้ทั่วพื้นที่หรือรอบโคนต้นแล้วไถกลบ เพื่อช่วยให้ดินมีสภาพเป็นกลาง

5. พ่นปุ๋ยทางใบเพิ่มความสมบูรณ์ของต้น ประกอบด้วยปุ๋ยน้ำ 12-12-12 หรือปุ๋ยเกล็ด 25-20-20 หรือ 21-21-21 และเพิ่มส่วนผสม เช่น น้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม ฮิมมิคแอซิด 20 ซีซี เพื่อเปิดปากใบ น้ำ 20 ลิตร สารจับใบ สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลง พ่นทุก 3-7 วัน จำนวน 3 ครั้ง จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนเป็นใบเพสลาด

6. การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาราดหรือผสมกับปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัมต่อต้น ใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.3 3-5 กิโลกรัมต่อต้น ในกรณีที่เกิดโรครากเน่าโคนเน่า (เชื้อราพิเที่ยมหรือเชื้อราไฟท็อปธอร่า) ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เมตาแลกซิล อลูมินัม 100 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ในกรณีที่เกิดโรครากเน่าโคนเน่า (เชื้อราฟูวาเรียม ไรซอกโทเนีย หรือเชื้อราสเครอโรเทียม) ราดสารเคมีพีซีเอ็นบีหรือเทอร์ราคลอร์ 50-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร

ในส่วนของคำแนะนำในการดูแลฟื้นฟูไม้ผล ไม้ยืนต้น ในแต่ละชนิด จะมีวิธีการที่แตกต่างออกไปบ้าง ตามสรีระวิทยาของพืชชนิดนั้น ๆ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงได้จัดทำคำแนะนำในการฟื้นฟูสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ไม้ยืนต้น และมะพร้าว เพื่อเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรได้ใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูต้นไม้ในพื้นที่ของตัวเอง หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง ใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว