ค.ร.ม. ไฟเขียวงบหมื่นล้าน หนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ
ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบโครงการ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง
จากการปฏิรูปภาคการประมงไทยด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงเรือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทำการประมง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการประมงประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบางรายอาจต้องใช้สินเชื่อนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการประมง ดังนั้น ในระยะเร่งด่วน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กรมประมงหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพด้วยการจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ท่านอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการประมง สำหรับช่วยบรรเทาภาระของชาวประมงด้วยการสนับสนุนแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับใช้ในการปรับปรุงเรือประมง ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมง ตลอดจนมีเงินทุนหมุน เวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมประมง ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเรือประมงไทยที่มีทะเบียนเรือ รวม 61,601 ลำ ประกอบด้วย เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 51,209 ลำ และ เรือประมงพาณิชย์ จำนวน 10,392 ลำ ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการประมงต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมาก
ในด้านการจัดหาสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ภายใต้โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาทโดยธนาคารของรัฐเข้าร่วมจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท
- ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปวงเงินสินเชื่อจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปีนับจากวันที่ ครม.มีมติอนุมัติโครงการ โดยทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านกู้เงินทุนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี กล่าวคือ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปีและ ผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้
ทั้งนี้ ในส่วนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการสินเชื่อส่งเสริมศักยภาพเรือประมงนอกน่านไทย โดยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินลำละ 20 ล้านบาท สูงสุดไม่เกินรายละ 3 ลำ วงเงินโครงการ 500 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิรูปภาคการประมงไทยมีเป้าหมายหลักเพื่อการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพการประมงทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนพี่น้องชาวประมงที่ต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อย่างสง่างามภายใต้การทำประมงอย่างรับผิดชอบ โครงการดังกล่าวนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ภาครัฐจะมีการออกมาตร การต่างๆ มาบังคับใช้ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการหาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ต้องขอขอบคุณทุกความร่วมมือที่ร่วมจับมือกันก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยวิถีการทำประมงที่เกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้นพร้อมส่งต่อทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราช่วยกันดูแลต่อไป สำหรับชาวประมงผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร.02-562-0600-15 หรือสำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านท่าน
กรมประมง ข่าว