‘ฟางข้าว’ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างมูลค่า

3,345

สศท.5 เผย ‘ฟางข้าว’ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สร้างมูลค่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมีปริมาณฟางข้าวรวม 4.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นาจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บริหารจัดการฟางข้าว โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมูลค่า รวมถึงช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy: BCG) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

นางสุจารีย์ พิชา
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จากการลงพื้นที่ของ สศท.5 โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์จากในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดรวม196 ราย ได้แก่ เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สินค้าข้าวที่มีการจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ที่ผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/66 และข้าวนาปรังปี 2565 จำนวน 156 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวม จำนวน 20 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 20 ราย พบว่า มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวของพื้นที่ 4 จังหวัด ดังนี้

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่เกษตรกรจ้างรถอัดฟางข้าวของกลุ่มแปลงใหญ่ แล้วนำฟางอัดก้อนเก็บไว้เพื่อทำปุ๋ย เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ และวัสดุคลุมดิน ร้อยละ 33.63, ไถกลบฟางข้าวในนาเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย ร้อยละ 29.22 จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนเองให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และเพาะเห็ด ร้อยละ 26.32 , จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนให้กับกลุ่มแปลงใหญ่/วิสาหกิจชุมชนที่ตนเป็นสมาชิก ร้อยละ 7.90, จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนให้กับผู้รวบรวมเอกชน ร้อยละ 1.96 และนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น ทำปุ๋ย เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ และวัสดุคลุมดิน ร้อยละ 0.97 กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวม แบ่งเป็น กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว/วิสาหกิจชุมชน เป็นผู้รับซื้อฟางข้าวจากเกษตรในพื้นที่และให้บริการอัดฟางก้อนในนาให้แก่เกษตรกรสมาชิก มีค่าใช้จ่ายประมาณ 13 – 14 บาท/ก้อน (ไม่รวมค่าขนส่ง) เมื่อกลุ่มแปลงใหญ่อัดฟางก้อนเสร็จเรียบร้อยจะจำหน่ายให้กับผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวทันที่ (จำหน่ายที่นา) ส่วนผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชน จะรับซื้อฟางข้าวอัดก้อนจากเกษตรกรหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งราคารับซื้อขึ้นอยู่กับฤดูกาลเก็บเกี่ยว สภาพความชื้นของฟางข้าว พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก โดยผู้รวบรวมเอกชนจะจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนต่อให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เพาะเห็ด บุคคลทั่วไป โรงแรม และรีสอร์ท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อนำฟางข้าวใช้แทนหญ้าเนเปียร์ ลดค่าใช้จ่ายได้ 10.21 บาท/ตัว/วัน , เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำฟางข้าวใช้แทนอาหารหยาบลดค่าใช้จ่ายได้ 43.60 บาท/ตัว/วัน , เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา นำฟางข้าวใช้แทนอาหารปลาสำเร็จรูป ลดค่าใช้จ่ายได้ 3,025 บาท/ปี , เกษตรกรผู้ปลูกพืช นำฟางข้าวไปเป็นวัสดุคลุมดินแทนการใช้ผ้าสแลนกรองแสง ลดค่าใช้จ่ายได้ 750 บาท/ปี

และเกษตรกรผู้เพาะเห็ด นำฟางข้าวอัดไปเป็นวัสดุคลุมดินแทนการใช้ต้นกล้วยแห้ง ลดค่าใช้จ่ายได้ 1,800 บาท/ไร่/รอบการผลิต หรือแทนการใช้กากมันสำปะหลัง ลดค่าใช้จ่ายได้ 6,600 บาท/ไร่/รอบการผลิต “ควรส่งเสริมให้เกษตรกรนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลายหลาย ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าฟางข้าว และการรับรองแหล่งที่มาเพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์เกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและการต่อรองราคา รวมถึงการรักษามาตรฐานสินค้าฟางข้าว เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนและผลักดันไปสู่ช่องทางในการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในการซื้อขายฟางข้าว สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการบริหารจัดการฟางข้าว ตั้งแต่การวางแผน กระบวนการผลิต และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวม และผู้ใช้ประโยชน์ ควรทำประกันภัยขนส่งสินค้าฟางข้าว เพื่อป้องกันความเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกของผลการวิจัย การจัดการโซ่อุปทาน และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร 0 4446 5120 อีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว