หอมแดง จ.ศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ภาคอีสาน

518

สศท.11 เกาะติดสถานการณ์หอมแดง จ.ศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ภาคอีสาน ปีนี้ ผลผลิตรวม 77,420 ตัน ออกตลาดมากสุด ม.ค. – ก.พ. นี้ ร้อยละ 70

นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยปีเพาะปลูก 2566/67 (ข้อมูล ณ 22 ม.ค. 67) คาดว่า เนื้อที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด 21,817 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 22,332 ไร่ (ลดลง 515 ไร่ หรือร้อยละ 2) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหอมแดงบางส่วนในอำเภอยางชุมน้อย และอำเภอราษีไศล ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกหลักได้รับผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมในช่วงที่เตรียมการเพาะปลูก ทำให้น้ำในนาแห้งช้า ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเตรียมแปลงปลูกได้จึงเลือนการเพาะปลูกออกไป เนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด 21,735 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 22,029 ไร่ (ลดลง 294 ไร่ หรือร้อยละ 1)

นางประเทือง วาจรัต
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ปริมาณผลผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ มีปริมาณรวม 77,420 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 77,313 ตัน (เพิ่มขึ้น 107 ตัน หรือร้อยละ 0.14) เนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3,562 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 52 กิโลกรัม หรือร้อยละ 1) ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาแปลงปลูกหอมแดงและมีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคระบาดในแปลงปลูกหอมแดงได้ดี   

            สำหรับปีเพาะปลูก 2566/67 ผลผลิตหอมแดงในบางพื้นที่ได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 คิดเป็นร้อยละ 4 ของผลผลิตทั้งหมด และจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 ประมาณ 54,194 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด โดยราคาหอมแดง (ราคาตลาด ณ 22 ม.ค. 67) แบ่งเป็น หอมแดง    สดแก่ (คละ) ราคา 9 – 10 บาท/กิโลกรัม , หอมปึ่งคละ เป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ราคา 18 – 22 บาท/กิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ ราคา 25 – 30 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาดหอมแดง ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น พ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ร้านสิทธิกรณ์ดีพืชผล ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและส่งออกหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งขายลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนผลผลิตที่เหลือ ร้อยละ 20 จำหน่ายให้กับพ่อค้าต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และนครราชสีมา รวมถึงพ่อค้ารายย่อยในพื้นที่

            “หอมแดงศรีสะเกษเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด สร้างรายได้ปีละกว่า 1,600 ล้านบาท ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมถึงตลาดอาเซียน โดยหอมแดงศรีสะเกษ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเทคนิคการเพาะปลูกของคนในท้องถิ่น จึงทำให้หอมแดงศรีสะเกษมีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากหอมแดงที่มาจากแหล่งผลิตอื่น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในด้านการผลิต การแปรรูป และช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 อุบลราชธานี โทร 0 4564 4654 หรือ อีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว