YSF สุราษฎร์ธานี ฟาร์มเมล่อนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

423

Young Smart Farmer (YSF) สุราษฎร์ธานี พัฒนาฟาร์มเมล่อนสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การทำอาชีพเกษตรในปัจจุบันถือได้ว่ามีการพัฒนาและก้าวหน้าจากเดิมไปมาก ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำเกษตรและมีรายได้จากการเก็บผลผลิตเพื่อส่งขายเท่านั้น โดยเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรเพื่อทุ่นแรง รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ตั้งแต่ปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เริ่ม โครงการ Young Smart Farmer (YSF) โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร ให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ Startup และเป็นกลุ่มนักธุรกิจมืออาชีพในภาคการเกษตรและอาหารในอนาคต และในปี 2561 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ที่เชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer (YSF) เป็นแหล่งเชื่อมโยงถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร การตลาด และเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การเกษตรยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี YSF ที่มีความโดดเด่นที่ประสบผลสำเร็จ และเป็นต้นแบบคือ คุณกิตติศักดิ์ เปรมกระสิน หรือมีชื่อเล่นว่า “หนึ่ง” เกษตรกรจากตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) เมื่อปี 2563 ปัจจุบัน เป็นเจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าของ “บุนนาคฟาร์ม” ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในการผลิตพืชในโรงเรือนปิดด้วยระบบอัจฉริยะ กิจกรรมการเกษตรอื่น ๆ ประกอบด้วย ยางพารา ปลาม์น้ำมัน ผลไม้ ผัก ไม้ผล เมล่อน มะเขือเทศ เมล่อน สามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมการเกษตรได้เฉลี่ย 960,000 บาทต่อปี

นายกิตติศักดิ์ เปรมกระสิน YSF จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “บุนนาคฟาร์ม” เกิดจากแรงบันดาลใจในการทําการเกษตร โดยการปลูกพืชผักผลไม้ที่สะอาด ปลอดภัย เริ่มต้นกิจการ เมื่อปี 2559 และได้เข้าร่วมโครงการและผ่านเป็น Young Smart Farmer เมื่อปี 2563 ของสำนักงานเกษตรจังหวัด​สุราษฎร์ธานี​ หลังจากการได้เข้าร่วมโครงการ ก็ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรม ตลอดจนความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเครือข่ายด้วยกัน มาปรับใช้ในฟาร์ม ทั้งในด้านระบบการปลูก การป้องกันโรคและแมลงโดยใช้สารชีวภัณฑ์และตัวห้ำตัวเบียน โดยนำมาปรับใช้กับพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ซึ่งมีสองสี ประกอบด้วย เนื้อสีเขียว เรียกว่า “ทาคามิ เมล่อน” (Takami Melon)​ และเนื้อสีส้ม เรียกว่า “ออเรนจิ เมล่อน” (Orenji Melon)​ โดยมีระดับความหวานอยู่ที่ 14-15 องศาบริกซ์ และได้เกิดแนวคิดในการนำทรายทะเลที่มีซิลิกอนและแคลเซียมจากเปลือกหอยเป็นองค์ประกอบ ผสมกับ “พดพร้าว” หรือเปลือกมะพร้าวสับ มาใช้ในการปลูกเมล่อนด้วยวิธีการอันเป็นเอกลักษณ์​เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และได้นำมวนตัวห้ำ แมลงกินเพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติเข้ามาตัดวงจรศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้เมล่อนที่มีรสชาติหวานกลมกล่อม กลิ่นหอมละมุนละไม เปลือกมีลวดลายตาข่ายสวยงามชัดเจน ไม่มีกลิ่นดิน ปัจจุบัน ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP และได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีผลผลิต อาหาร และเครื่องดื่ม สามารถบริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยปัจจุบันบุนนาคฟาร์มได้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปที่เรียกว่า “ไชยาวันเดย์ทริป เจแปนแดนใต้” ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการแสวงหาทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวทะเลและชายหาด เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมและอาหารแบบไปเช้าเย็นกลับ โดยเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอไชยา เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่และทำให้เส้นทางการท่องเที่ยวเดิมเฉพาะที่บุนนาคฟาร์มเพียงแห่งเดียว เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในการผนวกแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ใกล้กันในชุมชน ให้กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างสรรค์และสร้างโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจนเกิดคุณค่าเพิ่มและมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน

          จุดเด่นของบุนนาค ฟาร์ม คือ การปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือนปิด โดยใช้ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ Smart Farm Technology ติดตั้งระบบ IoT (Internet of Thing) ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยผ่านอินเตอร์เน็ต การใช้แสงประดิษฐ์ ควบคุมสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่เหมาะสม การควบคุมอุณภูมิด้วยพัดลมระบายอากาศ ทำให้ผลผลิตเมล่อนคุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยม ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการเกษตรสมัยใหม่ ขยายผลสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ให้ชุมชน ภายใต้แนวคิด “ปลูกด้วยรักใส่ใจคุณภาพพืชผักที่สะอาดและปลอดภัยต่อครอบครัว ส่งต่อผู้บริโภคจากต้นสู่จาน” การจำหน่ายผลผลิตของบุนนาค ฟาร์ม โดยส่วนใหญ่เป็นแบบออฟไลน์ 70 % และออนไลน์ 30 % เกษตรกรหรือนักท่องเที่ยวผู้สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมตลอดจนศึกษาดูงานด้านการเกษตรได้ที่ “บุนนาคฟาร์ม” เลขที่ 19/8 หมู่ที่ 5 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเฟซบุ๊ค : บุนนาคฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว