‘รมว.ธรรมนัส สั่ง อธิบดีสุพิศ’ ลุยทำฝนหลวงดับฝุ่นพิษต่อเนื่อง พบมีฝนตกในพื้นที่ปริมณฑลฝั่งตะวันออก และค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. มีแนวโน้มลดลง
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และโดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (สีส้ม) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาชีวมวลในภาคตะวันออกและประเทศเพื่อนบ้าน พบจุดความร้อน (Hot Spot) ค่อนข้างสูง ประกอบกับบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับอิทธิพลลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ จึงส่งผลให้พัดพาฝุ่นละอองจากการเผาชีวมวลของประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภาคกลางของประเทศไทย
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ประกอบด้วย 1. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ใช้อากาศยานขนาดกลางชนิด CASA จำนวน 2 ลำ และอากาศยานขนาดเล็กชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน สนามบินหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้อากาศยานขนาดกลางชนิด CASA จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 3. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้อากาศยานขนาดเล็กชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านเหนือของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทั้ง 3 หน่วยฯ จะสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างทั่วถึง ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก สนามบินกองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างอีกด้วย
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แบ่งออกเป็น 3 เทคนิค ได้แก่
1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลมของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย
2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง
และ 3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นบรรยากาศผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นบรรยากาศผกผัน) เพื่อเปิดให้เกิดช่องระดับฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน
นายสุพิศ กล่าวต่อด้วยว่า ในระยะนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 65 – 75% มีโอกาสบินปฏิบัติการแล้วมีฝนตก ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดระยอง และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นบินปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ดังกล่าวลดลง รวมถึงขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ทำให้มีฝนตกในพื้นที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวันเพื่อวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะมีการขึ้นบินปฏิบัติการทันที และพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวัน โดยติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ข่าว