กรมประมง….ประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ปี 2567

366

กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ปี 2567 คุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูให้มีโอกาสวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน

กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณทะเลอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าว) โดยครอบคลุมเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้วางไข่ และช่วงที่สองอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 8,100 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2567 เพื่อให้ลูกปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโตเดินทางเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อให้ปลาทูสาวได้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป โดยมีการควบคุมการทำประมงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งจากการศึกษาทางวิชาการ พบมาตรการฯ มีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู คือ เป็นช่วงที่ปลาทู มีความสมบูรณ์เพศสูงสุด สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยเฉพาะปลาทู ที่พร้อมสืบพันธุ์ และมีไข่แก่ ให้สามารถวางไข่และแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนให้สามารถเจริญเติบโต เพื่อทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไป อันจะเป็นการสานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน และเป็นมาตรการที่กรมประมงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 โดยได้มีการปรับปรุงประกาศฯ ให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา และเมื่อพิจารณาจากผลจับปลาทูภายหลังการดำเนินมาตราการปิดอ่าวในปี 2566 พบว่าปริมาณปลาทูที่จับได้ฝั่งอ่าวไทยมีจำนวน 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาท มากกว่าปริมาณที่จับได้ในปี 2565 (จำนวน 35,708 ตัน) ถึง 5,602 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16) คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 659.08 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการปิดอ่าวฯ ใน 2 ช่วงเวลาในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นประจำทุกปีนั้น ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในพื้นที่อ่าวไทยอย่างเห็นได้ชัด 

        โดยปัจจุบัน กรมประมงใช้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำ     มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยแบ่งการใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 

        ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมเป็นระยะเวลา 90 วัน (ตามแผนที่แนบท้ายประกาศ) โดยห้ามใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มเรือประมงขนาดเล็กที่ไม่กระทบต่อมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ดังนี้

(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืนและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไปโดยการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ความยาวอวนที่ใช้จะต้องไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ

(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง

(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

(6) ลอบหมึกทุกชนิด

(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง

(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ

(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือประมง ซึ่งได้แก่ 1) อวนลากคู่ อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกล และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) 2) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก
ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และ 3) เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        สำหรับช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2567 อาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีข้อกำหนดที่เป็นรายละเอียดมากกว่าข้างต้น ดังนี้

  • อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
    แต่ในพื้นที่บริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อนุญาตให้เฉพาะเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน
    และทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
  •  เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกลที่มีขนาด 10 ตันกรอส อนุญาตให้ทำการประมงได้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เฉพาะบริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

        สุดท้ายนี้ อธิบดีกรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดมา และเพิ่มความระมัดระวังให้การทำการประมงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องชาวประมงและประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมวันประกาศปิดอ่าว ณ บริเวณท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า เป็นประธานในพิธี กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงสืบไป

กรมประมง ข่าว