สศก. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ มันสำปะหลัง

278

สศก. ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์มันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน ปี 2566/67 ระบุ ผลผลิตลด เหตุกระทบแล้งและน้ำท่วม ด้านราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้ามันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดสระแก้ว  ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า

สินค้ามันสำปะหลัง จังหวัดบุรีรัมย์  เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังอันดับ 6 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลังจากจังหวัดต่างๆ โดยในปี 2566/67 (ข้อมูลศูนย์สารสนเทศการเกษตร ณ ตุลาคม 2566) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.288 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 0.281 ล้านไร่ ในปี 2565/66 ร้อยละ 2.49 เนื่องจากไม่ประสบอุทกภัยหรือฝนตกชุกเหมือนปีที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ ปี 2566/67 มีผลผลิต 0.972 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,374 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีผลผลิต 1.043 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,712 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 6.81 และร้อยละ 9.10 ตามลำดับ เนื่องจากช่วงปลูกมันสำปะหลังประสบภาวะแล้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้ต้นมันสำปะหลังโรงงานเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอนางรอง อำเภอปะคำ และอำเภอโนนสุวรรณ เกษตรกรนิยมปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 80 และห้วยบง 60 เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งและผลผลิตต่อไร่สูง และเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังเมื่อครบอายุ 8 – 12 เดือน โดยราคารับซื้อมันสำปะหลังคละ ณ เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.10 บาท สูงขึ้นจากราคากิโลกรัมละ 2.62 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จังหวัดสระแก้ว เป็นแหล่งปลูกอันดับ 1 ของภาคตะวันออก และเป็นช่องทางการค้ามันสำปะหลังชายแดน
ไทย – กัมพูชาที่สำคัญ โดยปี 2566/67 (ข้อมูลศูนย์สารสนเทศการเกษตร ณ ตุลาคม 2566) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.221 ล้านไร่ ผลผลิต 0.648 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 2,928 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.252 ล้านไร่ ผลผลิต 0.779 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,096 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 12.30 ร้อยละ 16.82 และร้อยละ 5.43 ตามลำดับ เนื่องจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังประสบปัญหาภัยแล้งช่วงต้นปี 2566 ทำให้ขาดแคลนท่อนพันธุ์สำหรับการเพาะปลูก ท่อนพันธุ์มีราคาสูง เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกอ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงส่งผลให้เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปีเพาะปลูก 2565/66  ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบว่า พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร และอำเภอเมือง เกษตรกรนิยมปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 50 และระยอง 72 และจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังเมื่ออายุครบ 8 – 10 เดือน โดยราคารับซื้อมันสำปะหลังคละ ณ เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.15 บาท สูงขึ้นจากราคากิโลกรัมละ 2.63 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
            ด้านปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง คือ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรไม่สามารถตัดท่อนพันธุ์และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกมันสำปะหลังทันทีหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนและขุดมันสำปะหลังไปขาย เมื่อฝนเริ่มตกจึงนำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้มาปลูก ดังนั้น เมื่อฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกไม่ต่อเนื่อง ทิ้งระยะเวลานานเกิน 1 เดือน เกษตรกรมีความเสี่ยงต่อการหาท่อนพันธุ์มาปลูกซ้ำ ส่งผลให้ท่อนพันธุ์ขาดแคลน และมีราคาสูง โดยราคาพันธุ์มันสำปะหลังในปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นจาก 1.0 – 1.4 บาทต่อลำ เป็น 4.0 – 4.5 บาทต่อลำ หรือเพิ่มขึ้น 3.2 – 4.0 เท่า นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ส่วนปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรได้แก้ไขปัญหาโรคใบด่างฯ ด้วยการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น อ้อยโรงงาน แล้วจึงกลับมาปลูกมันสำปะหลัง อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ การเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ภาครัฐได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยเน้นการจัดทำแปลงพันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 ตลอดจนการบริหารจัดการธนาคารท่อนพันธุ์ชุมชนอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน  รวมทั้งการสนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระบบน้ำหยด และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในแปลงมันสำปะหลัง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง

สินค้าอ้อยโรงงาน ปี 2566/2567 พบว่า ภาพรวมของการผลิตอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก คาดว่าทั้งปริมาณผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ และระดับความหวานลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565/2566 เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นปี 2566 ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และฝนตกหนักในช่วงก่อนฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้แปลงอ้อยมีน้ำขัง ผลผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบเสียหาย ปริมาณผลผลิตและระดับความหวานของอ้อยโรงงานจึงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะรายงานข้อมูลเนื้อที่ ผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ปี 2566/67 หลังการปิดหีบอ้อยโรงงานในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2567 ต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดวันเปิดหีบอ้อยโรงงาน ปี 2566/2567 สำหรับโรงงานน้ำตาลทรายตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 1,420 บาทต่อตันอ้อย (ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส) ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565/2566 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 1,080 บาทต่อตันอ้อย (ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส)

จากการลงพื้นที่ ด้านการจัดการชีวมวลอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรทั้ง 2 จังหวัด พบว่า จะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของผู้รับซื้อใบอ้อยในแต่ละพื้นที่ โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้ทำการอัดใบอ้อย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายใช้ใบอ้อยอัดก้อนขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งมีต้นทุนสูงในการอัดก้อน ทำให้เกษตรส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะทิ้งใบอ้อยไว้ในแปลงเพื่อคลุมดิน และไถกลบใบอ้อยเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินในขั้นตอนการเตรียมดินปลูกอ้อย แต่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีการขายใบอ้อยให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรถอัดใบอ้อย แต่จะอัดใบอ้อยเพียงร้อยละ 30 ของใบอ้อยในแปลงเท่านั้น เพื่อให้สามารถเหลือใบอ้อยทิ้งไว้ในแปลงสำหรับการปรับปรุงบำรุงดินต่อไป
            นอกจากนี้ การเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้อยได้มีการรวมตัวเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนร่วมกัน สมาชิกกลุ่ม  มีการใช้ปัจจัยการผลิต และเครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน เช่น เครื่องปลูกอ้อย เครื่องให้ปุ๋ยและยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และรถตัดอ้อย เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนช่วยให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมมาตัดอ้อยสดและลดการเผาในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาปัจจัยการผลิตอื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าจ้างแรงงานเกษตร ค่าปุ๋ยและยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช อีกทั้งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่อีกด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว