กปม. ออกหลักเกณฑ์ใหม่ “วางประกัน” แทนการกักเรือ

256

ธรรมนัสสั่งการ กรมประมง…ออกหลักเกณฑ์ใหม่ “วางประกัน” แทนการกักเรือ – ยึดเครื่องมือ เปิดโอกาสให้สามารถทำการประมงได้ระหว่างพิจารณาคดี

กรมประมง ประกาศข่าวดี เรื่องการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือการกักเรือประมง โดยเรือประมงที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี สามารถวางประกันแล้วนำเรือประมง เครื่องมือประมง ไปทำการประมงได้ สำหรับหลักประกันที่ใช้แทน ได้แก่ เงินสด ที่ดิน พันธบัตร หุ้น หรือบุคคลค้ำประกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ถูกห้ามออกทำการประมง ทำให้ชาวประมงสามารถนำเรือออกไปจับปลาหารายได้ระหว่างรอพิจารณาดำเนินคดีได้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า…ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งผลักดันฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและปรับกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาให้ชาวประมง โดยมุ่งมั่นในการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมงที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมงในปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมนั้น เมื่อเจ้าของเรืออยู่ในระหว่างพิจารณาดำเนินคดี เรือประมงจะถูกกักหรือยึดเรือไว้ ทำให้ชาวประมงไม่สามารถนำเรือออกไปประกอบอาชีพได้ ทำให้สูญเสียรายได้

ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงออกประกาศ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางประกันแทนการยึด เครื่องมือทําการประมงหรือกักเรือประมง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นครั้งเเรก เพื่อเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดในช่วงที่ชาวประมงออกเรือไม่ได้ โดยใช้ “การวางหลักประกัน” แทน เรือประมงที่จะต้องถูกกัก หรือ ยึด เป็นการช่วยให้พี่น้องชาวประมงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้ ไม่สูญเสียรายได้ระหว่างช่วงพิจารณาคดี

สำหรับหลักเกณฑ์ประกาศฉบับนี้ เจ้าของเรือสามารถยื่นคําขอวางประกัน ณ สํานักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ที่เครื่องมือทําการประมงหรือเรือประมงถูกยึด หรือ กรณีเป็นเรือประมงนอกน่านน้ำ ต่อเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง กรมประมง โดยหลักประกันที่สามารถใช้วางประกันได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. เงินสด  

2. แคชเชียร์เช็ค  

3. หนังสือค้ำประกันของธนาคาร (bank guarantee)  

4. ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์  

5. ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์และสิ่งปลูกสร้าง  

6. ห้องชุดมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์

7. พันธบัตรรัฐบาลไทย  

8. หุ้นหรือหุ้นกู้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

9. หลักทรัพย์มีค่าที่กําหนดราคามูลค่าแน่นอน เช่น สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของ ธกส.ใบรับเงินฝากประจําธนาคาร  ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไป  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออก  ตั๋วเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทําสัญญาประกัน หนังสือรับรองของธนาคารหรือบริษัทประกันภัยเพื่อชําระเบี้ยปรับแทนกรณีผิดสัญญาประกัน หรือหลักทรัพย์อื่นที่มีลักษณะทํานองเดียวกัน 

10. บุคคลค้ำประกัน ซึ่งต้องเป็นผู้มีตําแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน  เช่น ข้าราชการ ข้าราชการบํานาญ สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งเเต่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยกรมประมงเชื่อมั่นว่าประกาศ           ฉบับนี้ จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงได้ ซึ่งกรมประมงพร้อมรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงอยู่เสมอ จากนี้จะเร่งดำเนินการให้ประมงจังหวัด และประมงอำเภอในพื้นที่                สร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงได้รับทราบถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพประมง และด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กองกฎหมาย กรมประมง โทร 02-561-2928 และกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมงโทร. 02-561-2341 , 082-649-7981 , 064-695-3360

กรมประมง ข่าว