เกษตรฯ ชูเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม

422

เกษตรฯ ชูเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม เป็นโรงเรียนต้นแบบ ศพก.ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ได้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในภูมิภาคของประเทศมีเกษตรกรดีเด่นที่มีประสบการณ์ ความรู้ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ จนประสบผลสำเร็จในอาชีพทางการเกษตร ได้รับการยอมรับเชิงประจักษ์จากเกษตรกร และหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน จึงมีการพัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนและพื้นที่อื่นต่อไป โดยดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปีงบประมาณ โดยมีเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ทั้ง 6 ภาค เป็นเกษตรกรต้นแบบ ในส่วนของภาคใต้ ปีงบประมาณ 2567 ได้พัฒนาแปลงต้นแบบของคุณมะซากรี มะแซ เกษตรกรตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้มีการทำกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย ผสมผสานและเกื้อกูลกันภายในพื้นที่เดียวกัน มีการวางแผนและระบบในการบริหารจัดการทุกระยะตั้งแต่การปลูก การดูแลบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการขนส่ง สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาจนปัจจุบัน

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

นายมะซากรี มะแซ เกษตรกรต้นแบบ ศพก. กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตรของตนเองนั้น แต่เดิมเป็นพื้นที่ซึ่งถูกทิ้งร้างจากการทำการเกษตรมานานกว่า 10 ปี อยู่ในสภาพที่ผู้คนรอบข้างเห็นว่าไม่สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ เมื่อปี 2558 ได้เริ่มทำการเกษตรโดยการเปลี่ยนที่ดินนาร้างให้เป็นไร่นาสวนผสม โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เริ่มต้นจากการจัดการฟื้นฟูผืนนาร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการลองผิดลองถูก ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ปรับปรุงบำรุงดิน และทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ พืชอาหารสัตว์เพื่อใช้ในการเลี้ยงโค แทนจากการปล่อยกินตามธรรมชาติ พบว่าได้ปริมาณและผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่โดยไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น

นายมะซากรี มะแซ เกษตรกรต้นแบบ ศพก.

ภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ทำให้ดินมีสภาพดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว ก็ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในบริเวณเดียวกัน รวมประมาณ 9 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำนา และปรับพื้นที่โดยการขุดคูยกร่องสวน และในส่วนของแปลงทำเป็นคลองไส้ไก่ ซึ่งตลอดทั้งปีแทบจะไม่ต้องรดน้ำเลยโดยจะมีน้ำซึมในส่วนจากใต้ดินซึมไปสู่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ ใช้องค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated Farming System) ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้การเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่ร่วมกันระหว่างพืช สัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยทดลองปลูกมะนาวและเพาะขยายพันธุ์มะนาวควบคู่กันไป เนื่องจากเป็นพืชที่มีอนาคตที่ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และดูแลรักษาได้ไม่ยาก ในส่วนของไม้ผลเศรษฐกิจได้มีการปลูกลองกอง ผสมผสานด้วยมะพร้าว สะตอ และกล้วยหอมทอง มีการปลูกไผ่กิมซุง ไผ่หวาน และพืชอีกหลากหลายชนิด มีการเลี้ยงปลาดุก ปลากินพืช และเลี้ยงเป็ด ไก่ เพื่อเสริมรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน และนำไปปรับใช้ในการจัดการในสวนอีกด้วย ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส และสำนักงานเกษตรอำเภอระแงะ ได้แนะนำส่งเสริมและพัฒนาการทำสวนยุคใหม่ ให้คำแนะนำในส่วนของที่ดิน ซึ่งที่ดินตรงนี้เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมตลอดทั้งปี พอฝนตกหนัก น้ำก็จะท่วม สำนักงานเกษตรอำเภอระแงะ ได้ให้คำแนะนำในการปลูกผักยกแคร่ ซึ่งสามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี ถึงแม้ว่าน้ำท่วมผักก็จะไม่เกิดความเสียหาย สามารถปลูกผักไว้กินไว้ขายได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบัน มีจุดเรียนรู้จำนวน 7 จุดเรียนรู้ ประกอบด้วย จุดที่ 1 การทำนาข้าวอินทรีย์ จุดที่ 2 การทำปุ๋ยหมัก จุดที่ 3 การเลี้ยงไก่ไข่/เป็ดไข่ จุดที่ 4 การเลี้ยงปลาในบ่อดิน (ปลาดุก/ปลานิล/ปลาตะเพียน) จุดที่ 5 การปลูกมะนาวและการขยายพันธุ์ จุดที่ 6 การเลี้ยงแหนแดง จุดที่ 7 การปลูกผักยกแคร่

จากผลสำเร็จในการดำเนินงาน จึงได้รับการจัดตั้งเป็น ศพก.ด้านเศรษฐกิจพอเพียง (ศูนย์เครือข่ายของ ศพก.อำเภอระแงะ) ซึ่งจะเป็นศูนย์ต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้เป็น Smart Farmer ต้นแบบของจังหวัดนราธิวาส ได้มีการขยายผลความสำเร็จไปสู่ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเกษตรกรต้นแบบและจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โรงเรียนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงมาศึกษาดูงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำการเกษตร แบบผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในแปลงของตนเองต่อไป นายมะซากรี กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว