ทิศทางสินค้าเกษตร ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี FTA

277

มองทิศทางและโอกาสของสินค้าเกษตร ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-ศรีลังกา

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากพิธีลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–ศรีลังกา ซึ่งเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย (ฉบับล่าสุด) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังการ่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงฯ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกัจกธุเค นลิน รุวันชีวะ เฟอร์นานโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า พาณิชย์ และความมั่นคงทางอาหารของศรีลังกาเป็นผู้ลงนาม ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกานั้น การเจรจา FTA ฉบับดังกล่าว ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2561 ก่อนจะหยุดชะงักไป 4 ปี เนื่องจากเกิดปัญหาภายในประเทศของศรีลังกา และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2566 ไทยและศรีลังได้กลับมารื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้ง และสามารถสรุปผลการเจรจาได้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2566 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดตลาดสินค้า (ยกเลิก/ลดภาษี) ในระดับร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ปัจจุบันทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก่อนปลายปี 2567

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ปัจจุบัน ไทยกับศรีลังกามีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างในปี 2564 – 2566 เฉลี่ย 3,248 ล้านบาทต่อปี โดยไทยมีมูลค่าส่งออกไปศรีลังกาเฉลี่ย 2,975 ล้านบาทต่อปี และมีมูลค่านำเข้าจากศรีลังกาเฉลี่ย 273 ล้านบาทต่อปี และจากการจัดทำ FTA ฉบับนี้ ศรีลังกาได้ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญให้ไทย เช่น ปลามีชีวิต ปลาทะเลแห้ง เครื่องปรุง กุ้งมีชีวิต สด/แช่เย็น เมล็ดพืชผักสำหรับเพาะปลูก อาหารสัตว์และของปรุงแต่งที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปตลาดโลกสูง ในขณะที่ศรีลังกามีความต้องการนำเข้าจากตลาดโลก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้สินค้าเกษตรไทยได้แต้มต่อทางภาษีในการเข้าสู่ตลาดศรีลังกาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยเปิดตลาดให้ศรีลังกา ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น แป้งข้าวสาลี ชา มะพร้าวฝอย ปลาทูน่าแช่แข็ง อบเชย กุ้ง หมึกแช่แข็ง และกุ้งมีชีวิต/สด/แช่เย็น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นและจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในอนาคตอีกด้วย

“ความตกลงเขตการค้าเสรีฉบับนี้ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับศรีลังกาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะยกระดับการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกในทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนของไทยไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เนื่องจากศรีลังกาตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้” เลขาธิการ สศก. กล่าว

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว