กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกร 9 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำทะเลรุก พร้อมติดตามสถานการณ์แล้งและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 30 เมษายน 2567) ประกอบกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กำลังปานกลางส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศน้อยลง และปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิเดือนมีนาคม – เมษายน 2567 มีแนวโน้มปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ 9 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร เกษตรกรสามารถติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวันได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร https://www.doae.go.th/ข้อมูลสถานการณ์น้ำเค็ม/ เพื่อเตรียมการป้องกัน บรรเทาผลกระทบ และช่วยลดความเสียหายจากน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรของท่านได้
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำฝนและแหล่งน้ำต้นทุน การเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบ โอกาสเกิดความเสียหายจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควบคุมกำกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 ของเกษตรกรให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่สร้างการรับรู้และให้ความรู้แก่เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 ช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะใช้น้ำน้อยกว่าแล้ว เกษตรกรยังสามารถสร้างกำไรเฉลี่ยได้มากกว่าการทำนาปรัง และได้เร่งสำรวจความต้องการเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร และเตรียมการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชให้แก่เกษตรกรปลูกในช่วงแล้ง ช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย และสร้างรายได้ในช่วงแล้ง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) ในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 แล้ว จำนวน 7.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 172 ของแผน (ในเขตชลประทาน 5.68 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 187 ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 1.22 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.53 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 131 ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 0.31 ล้านไร่) และพื้นที่ปลูกพืชไร่ พืชผักจำนวน 0.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผน (ในเขตชลประทาน 0.09 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.26 ล้านไร่) ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง รอบที่ 2 เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการตลาด การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และการป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน
กรมส่งเสริมการเกษตร